คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750-4751/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ได้ เมื่อคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมระบุว่า หากคู่สัญญามีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญา รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญา หรือความสมบูรณ์ของสัญญา ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม และได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่นำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ผู้คัดค้านยกขึ้นโต้แย้งเป็นประเด็นพิพาทไว้ถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) แล้ว ไม่อาจโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด
ศาลจะแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยการเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งว่า อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระแก่ผู้ร้องโดยมิได้วินิจฉัยเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบว่า ผู้ร้องมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ผู้คัดค้านจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นการกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับของอนุญาโตตุลาการ นั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยโดยขัดต่อหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไม่ เมื่ออนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรับฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านและผู้ร้องและข้อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับภายใต้พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและผู้ร้องนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้
ตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) จากคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วแต่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว คดีนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้พิพาทต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้องในมูลคดีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกัน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และต่างฝ่ายต่างเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ข) เป็นเหตุให้ค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่มิได้แยกยื่นคำร้องเป็นคนละคดีกัน กรณีจึงมีเหตุสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่พิพาทเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทแต่ละคนได้ชำระ ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับ ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้คงเรียกบริษัทวู้ดแลนด์ รีสอร์ท จำกัด ผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านสำนวนที่สองว่า ผู้ร้อง และเรียกบริษัทไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยบังคับผู้คัดค้านให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 45,421,859.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้าน/ข้อเรียกร้องแย้ง (วันที่ 28 เมษายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง พร้อมชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้อง แต่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม กับค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการคำนวณถึงวันยื่นคำร้องต้องไม่เกิน จำนวน 14,895,881.16 บาท และจำนวน 1,477,364 บาท ตามลำดับ กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาซึ่งผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์โต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ผู้ร้องทำสัญญาว่าจ้างผู้คัดค้านก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยพร้อมที่จอดรถยนต์โครงการวู้ดแลนด์ สวีท พัทยา ตั้งอยู่เลขที่ 172/3 หมู่ที่ 5 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตกลงราคาจ้างเหมารวม 98,692,561.87 บาท กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ระหว่างการก่อสร้างมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง 2 ครั้ง ครั้งแรกมีกำหนด 30 วัน ถึงวันที่ 16 มกราคม 2551 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกครั้งถึงวันที่ 12 มีนาคม ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 ผู้คัดค้านมีหนังสือขอหยุดทำการก่อสร้างชั่วคราวไปถึงผู้ร้อง ในวันเดียวกันนั้นผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านเคลื่อนย้ายบุคลากรและคนงานออกจากโครงการก่อสร้างของผู้ร้อง วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ผู้ร้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2552 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระค่าก่อสร้างงวดสุดท้าย งานก่อสร้างเพิ่มเติม และเงินประกันผลงานจำนวน 20,910,357.18 บาท และคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งขอให้ผู้คัดค้านชำระค่าปรับและค่าเสียหาย จำนวน 210,023,969.45 บาท คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2551 จำนวนเงิน 4,934,629 บาท ซึ่งค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาฯ ให้แก่ผู้คัดค้าน ส่วนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2550 จำนวนเงิน 9,800,000 บาท ที่ค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้าตามสัญญาจ้างเหมาฯ ให้ผู้ร้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อผู้ร้องได้รับชำระเงินซึ่งจ่ายล่วงหน้าที่ยังขาดอยู่จำนวน 762,585.57 บาท จากผู้คัดค้านแล้ว และให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 45,421,859.84 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้าน/ข้อเรียกร้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย วันที่ 10 กันยายน 2556 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวเข้าด้วยกันเป็นคดีนี้ ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม และได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด ตามข้อสัญญา ข้อที่ 23 และสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ ดังนั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยกล่าวอ้างว่าคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากไม่ได้หยิบยกเรื่องข้อสัญญาจ้างเหมาและพฤติการณ์แห่งคดีที่เป็นสาระสำคัญขึ้นวินิจฉัย เนื่องจากระหว่างก่อสร้างผู้คัดค้านกับผู้ร้องตกลงให้มีการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง และไม่มีเจตนายึดถือเอากำหนดเวลาก่อสร้างเป็นสาระสำคัญ ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า ทางนำสืบของผู้คัดค้านล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ ปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้
ประเด็นแรกที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับมิได้แสดงคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) และ (5) นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เข้าลักษณะเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันต้องด้วยข้อยกเว้นแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ที่ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ประเด็นข้อนี้ผู้คัดค้านยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นนำคำเบิกความของนายวิกุล และนางสาววรัษยา มาวินิจฉัยประกอบพยานเอกสารว่า สัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในข้อ 23 ตกลงกันให้มีการเสนอข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งตามสัญญาทุกเรื่องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด และคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดให้มีผลผูกพันคู่กรณี จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาทเท่านั้น โดยศาลชั้นต้นมิได้พิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานฝ่ายผู้คัดค้านแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักเชื่อถือได้ดีกว่ากันเพียงไร เห็นว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ขึ้นวินิจฉัยว่า ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เมื่อคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดคือผู้คัดค้านสามารถพิสูจน์ได้ว่าคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ว่า สัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม ระบุว่า หากคู่สัญญามีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญานี้ รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญาหรือความสมบูรณ์ของสัญญานี้ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม และได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดตามสัญญาข้อ 23 แล้ว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ผู้คัดค้านยกขึ้นโต้แย้งเป็นประเด็นพิพาทไว้ถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) และ (5) แล้ว ไม่อาจโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต่อมาที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเข้าเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ถ้ากรณีปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 45 (1) ที่ให้สิทธิแก่ผู้คัดค้านที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้นั้น เห็นว่า หัวใจของกฎหมายอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลจะแทรกแซงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งรวมถึงการเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้อย่างชัดแจ้งภายในกรอบที่จำกัด เช่น กรณีตามมาตรา 40 (1) (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) และ (2) (ก) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เมื่อมาตรา 40 (2) (ข) วางหลักเกณฑ์ว่า ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้เมื่อมีกรณีปรากฏต่อศาลว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องตีความประเด็นเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างเคร่งครัด เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบของอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายได้เลย สำหรับอุทธรณ์ข้อ 3 ของผู้คัดค้านในประเด็นที่อุทธรณ์โต้แย้งว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ผู้คัดค้านเพียงแต่ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งคัดค้านว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาโดยมิได้วินิจฉัยเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบในชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการว่า ผู้ร้องมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ส่วนอุทธรณ์ข้อ 4 ของผู้คัดค้านในประเด็นการกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับของอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 3 และ ข้อ 4 ของผู้คัดค้านดังกล่าว ผู้คัดค้านโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยโดยขัดต่อหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไม่ เมื่ออนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรับฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านและผู้ร้องและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับภายใต้พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและผู้ร้องนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยละเอียดแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการใดๆ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 45 (1) ที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อ 3 และข้อ 4 ของผู้คัดค้าน
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นผู้คัดค้านเป็นผู้เสนอข้อพิพาทเนื่องจากผู้คัดค้านส่งมอบงานงวดที่ 12 และงวดที่ 13 แล้ว แต่ผู้ร้องไม่ชำระเงินค่างวดดังกล่าว ส่วนผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและเรียกร้องแย้งว่า ผู้คัดค้านดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญา จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากผู้คัดค้าน และคณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นพิพาทด้วยว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา และในชั้นอนุญาโตตุลาการก็ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นนี้แล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตำหนิว่าฝ่ายผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการเพียงให้ผู้ร้องชำระค่างวด 2 งวด กับคืนหนังสือค้ำประกัน จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในสำนวนชั้นอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นข้อนี้ แม้ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) จากคู่พิพาทในลักษณะของคดีคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศนั้น เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดหรือคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดแล้วแต่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว คดีนี้เป็นกรณีที่ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทต่างฝ่ายต่างได้ยื่นคำร้องในมูลความแห่งคดีเดียวกัน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในมูลคดีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกัน โดยต่างฝ่ายได้เสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ข) เป็นเหตุให้ค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่มิได้แยกยื่นคำร้องเป็นคนละคดีกัน กรณีจึงมีเหตุสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่พิพาทเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทแต่ละคนได้ชำระไป ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นที่ผู้คัดค้านได้เสียมา จำนวน 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านและผู้ร้องคนละกึ่งหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาให้เป็นพับ

Share