คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628-2637/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรดาเงินค่าชดเชยและเงินประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้ภายหลังจากการเลิกจ้าง เป็นการจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยมีการเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ดังนั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ชอบจะเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งหมดต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันและโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นหนี้อย่างเดียวกันและโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดคืนเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงชอบจะใช้สิทธินำเงินที่จำเลยทั้งหมดต้องคืนโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยทั้งหมดตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341

ย่อยาว

รายชื่อจำเลยปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2
คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่าโจทก์ และให้เรียกจำเลยทั้งสิบสี่สำนวนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 182,993.67 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 165,988 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 156,190.33 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 156,881.67 บาท จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 156,190.33 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 155,975 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 154,983.33 บาท จำเลยที่ 8 ชำระเงิน 154,836 บาท จำเลยที่ 9 ชำระเงิน 153,680 บาท จำเลยที่ 10 ชำระเงิน 151,430.33 บาท จำเลยที่ 11 ชำระเงิน 147,996.33 บาท จำเลยที่ 12 ชำระเงิน 136,770.67 บาท จำเลยที่ 13 ชำระเงิน 135,155.67 บาท และจำเลยที่ 14 ชำระเงิน 107,740.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนจำเลยทั้งสิบสี่ยื่นคำให้การ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 11 ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 11 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 182,993.67 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 165,988 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 156,190.33 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 155,975 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 154,983.33 บาท จำเลยที่ 9 ชำระเงิน 153,680 บาท จำเลยที่ 10 ชำระเงิน 151,430.33 บาท จำเลยที่ 12 ชำระเงิน 136,770.67 บาท จำเลยที่ 13 ชำระเงิน 135,155.67 บาท และจำเลยที่ 14 ชำระเงิน 107,740.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 เป็นลูกจ้างโจทก์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดรวม 296 คน และได้จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนให้แก่พนักงานแล้ว ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2556 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานและจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้โจทก์รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 111 – 406/2556 วันที่ 31 ตุลาคม 2556 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งหมดกลับเข้ารายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 โจทก์รับจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงาน โดยแจ้งจำนวนเงินค่าเสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และขอหักกลบลบหนี้กับเงินประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้จากการเลิกจ้างตามหนังสือแจ้งการชำระค่าเสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แล้ววินิจฉัยว่า เงินประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยแต่ละคนตามหนังสือเลิกจ้างนั้น เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้อันเนื่องมาจากสภาพการจ้างสิ้นสุดลงและเป็นเหตุให้จำเลยทั้งหมดต้องพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ เงินดังกล่าวประกอบด้วยเงินตามสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเลิกจ้างภายหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ได้แก่ ค่าชดเชยและเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เมื่อโจทก์ดำเนินการรับจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานและนับอายุต่อเนื่องนับจากวันเลิกจ้างตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว จึงเสมือนว่าไม่มีกรณีที่โจทก์บอกเลิกจ้างมาก่อน ดังนั้นจำเลยแต่ละคนย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินใด ๆ อันเกิดจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว จึงต้องคืนเงินประโยชน์ตอบแทนจากการเลิกจ้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 ว่า การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงาน จะถือว่าจำเลยทั้งหมดเคยถูกเลิกจ้างมาก่อนหรือไม่ และจำเลยทั้งหมดต้องคืนเงินประโยชน์ตอบแทนจากการเลิกจ้างแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บรรดาเงินค่าชดเชยและเงินประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้ภายหลังจากการเลิกจ้าง เป็นการจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยมีการเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ดังนั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ชอบจะเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งหมดต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันและโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นหนี้อย่างเดียวกันและโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดคืนเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงชอบจะใช้สิทธินำเงินที่จำเลยทั้งหมดต้องคืนโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยทั้งหมดตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share