แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้างานเรียกโจทก์ทั้งสามไปตักเตือนเกี่ยวกับการทำงานและทำหนังสือทัณฑ์บนไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ภาคทัณฑ์โจทก์ทั้งสามเพื่อรอดูผลงานในอีก 1 เดือน หากระยะเวลาภาคทัณฑ์สิ้นสุดลงและผลงานไม่ประสบความสำเร็จ จำเลยที่ 1 จะพิจารณายกเลิกสัญญาจ้างเป็นรายบุคคลนั้น เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปโดยให้โอกาสปรับปรุงการทำงานเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงจะพิจารณาว่าสมควรเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามหรือไม่เท่านั้น แต่การที่โจทก์ทั้งสามแจ้งต่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ว่าจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือทัณฑ์บนนั้นแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แม้ในวันดังกล่าวโจทก์ทั้งสามจะได้รับแจ้งด้วยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ให้โจทก์ทั้งสามเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยที่ 1 อีก และจะให้โจทก์ทั้งสามรวบรวมเฉพาะผลงานของตนเองเท่านั้น ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้างานที่จะมอบหมายให้โจทก์ทั้งสามรับผิดชอบงานใดในระหว่างปรับปรุงการทำงานก็ได้ และแม้ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสามจะได้รับแจ้งจากลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเลขานุการ ขณะที่กำลังรออยู่บริเวณชั้นล่างว่าโจทก์ทั้งสามไม่ต้องขึ้นไปทำงาน โจทก์ทั้งสามจึงเดินออกจากที่ทำงานไปแล้วไม่กลับมาทำงานอีก โดยในวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสามขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อขอทราบความชัดเจนว่าจะให้ทำงานต่อไปหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมให้เข้าพบนั้น โจทก์ทั้งสามก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อให้ยืนยันว่าประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปอีกหรือไม่เพราะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาชัดแจ้งตามหนังสือทัณฑ์บนแล้วว่าให้โอกาสโจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานอีก 1 เดือน นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2551 จึงจะพิจารณาการทำงานต่อไปหรือบอกเลิกจ้างสัญญาจ้าง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ก็เป็นเพียงการจ่ายค่าจ้างตามกำหนดจ่ายซึ่งยังอยู่ภายในระยะเวลาที่ให้โจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานอีกต่อไปอย่างเด็ดขาดและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปแต่โจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเองตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องจำนวน 82,012.50 บาท 65,306.25 บาท และ 121,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้อง จำนวน 27,337.50 บาท 21,768.75 บาท และ 40,500 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 81,000 บาท 64,500 บาท และ 120,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 81,000 บาท 64,500 บาท และ 120,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 27,000 บาท 21,500 บาท และ 40,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 54,000 บาท 43,000 บาท และ 80,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานแอนนิเมเตอร์ มีหน้าที่สร้างอิริยาบถและการเคลื่อนไหวของตัวละคร มีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานของโจทก์ทั้งสาม ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ทั้งสามเข้าไปตักเตือนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและคุณภาพของงานพร้อมทำทัณฑ์บนไว้ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสามได้เข้าไปทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกเพียงวันเดียว โจทก์ทั้งสามได้แจ้งต่อนางอติมาซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ทั้งสามจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือทัณฑ์บน นางอติมาแจ้งโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ 2 ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยที่ 1 อีก โดยให้โจทก์ทั้งสามรวบรวมผลงานของตนเองเท่านั้น ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสามเข้าไปที่ทำงานบริเวณชั้นล่างและได้โทรศัพท์สอบถามนายอาริยาซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเลขานุการว่าจะให้ขึ้นไปทำงานหรือไม่ เมื่อนายอาริยาสอบถามจำเลยที่ 2 แล้วแจ้งว่าไม่ต้องขึ้นมาทำงาน นายพศินซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งพนักงานทั่วไปเห็นโจทก์ทั้งสามเดินออกไปจากบริษัทจำเลย เมื่อนายพศินสอบถามนางอติมาได้รับแจ้งว่าโจทก์ทั้งสามไม่สามารถทำงานตามที่จำเลยที่ 2 ต้องการได้และไม่เอาโจทก์ทั้งสามแล้ว และหลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามมิได้ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกเลย ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสามขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อทราบความชัดเจนว่าจะให้ทำงานต่อไปหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้เข้าพบเพราะกำลังซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์และไม่ว่าง จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แล้ววินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ทำหนังสือทัณฑ์บนให้โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในวันที่ 16 มิถุนายน 2551 วันรุ่งขึ้นโจทก์ทั้งสามยังคงเข้าไปทำงานตามปกติ โดยมิได้แสดงเจตนาลาออกจากงานแต่อย่างใด ได้แต่เพียงแจ้งให้นางอติมาทราบว่าจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือทัณฑ์บนที่กำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสามปรับปรุงผลงานเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่านางอติมานำเรื่องดังกล่าวไปบอกแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบหมายให้นางอติมาไปแจ้งโจทก์ทั้งสามไม่ให้เกี่ยวข้องกับงานของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพบกับโจทก์ทั้งสามโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งที่โจทก์ทั้งสามพยายามที่จะขอเข้าพบจำเลยที่ 2 อันมีลักษณะเพื่อต้องการความชัดเจนว่าจะให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ทั้งที่กล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 และมิได้นำสืบถึงเหตุผลในการจ่ายค่าจ้างดังกล่าวย่อมขัดแย้งต่อเหตุผล พฤติการณ์เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ทั้งสามมีเจตนาที่จะไม่ทำงานกับจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างของจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามล่วงหน้าโดยให้มีผลในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 และจากการที่จำเลยที่ 2 มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยสามารถลงโทษพนักงานรวมทั้งเลิกจ้างได้ด้วยนั้น ย่อมอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้กระทำการแทนอันถือเป็นนายจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมีผลผูกพันเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำการแทนหาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามหรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสามตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” นั้น มีความหมายว่าเป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดและโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างจึงต้องสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังยุติมาแล้วดังกล่าวข้างต้นว่า ระหว่างโจทก์ทั้งสามปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้างานของโจทก์ทั้งสามได้เรียกโจทก์ทั้งสามเข้าไปตักเตือนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและคุณภาพของงานพร้อมทำทัณฑ์บนไว้ โดยหนังสือทัณฑ์บนดังกล่าวระบุว่า “เนื่องด้วยทางบริษัท (ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1) ได้ทำงานร่วมกับทางทีมอนิเมชั่น (ซึ่งหมายความรวมถึงโจทก์ทั้งสาม) เป็นเวลาเกือบสองปี และได้ประมวลผล ประสิทธิภาพ และคุณภาพผลงานของทีมงานอนิเมชั่น ซึ่งผลที่ได้รับนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทางบริษัทจึงมีหนังสือแจ้งมาให้ทราบว่าทางบริษัทจะภาคทัณฑ์ทางทีมงานอนิเมชั่น เพื่อรอดูผลงานในอีก 1 เดือน หลังจากนี้ว่าเป็นที่พึงพอใจและประสบความสำเร็จหรือไม่ หากหลังจากระยะเวลาภาคทัณฑ์สิ้นสุดลงและผลงานไม่เป็นที่ประสบความสำเร็จนั้น ทางบริษัทจะขอพิจารณาตัดสินและยกเลิกสัญญาเป็นรายบุคคลไป” แสดงว่าเป็นการให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไปโดยให้โอกาสโจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงจะพิจารณาและตัดสินใจว่าสมควรให้โจทก์ทั้งสามทำงานอีกต่อไปหรือบอกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามก็ได้ลงลายมือชื่อรับทราบในหนังสือทัณฑ์บนไว้แล้ว แม้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 นางอติมาได้แจ้งโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยที่ 1 อีก โดยให้โจทก์ทั้งสามรวบรวมผลงานของตนเองเท่านั้นก็ตาม ซึ่งถือเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่แสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้างานในการจะมอบหมายให้โจทก์ทั้งสามรับผิดชอบงานใดในระหว่างปรับปรุงการทำงานก็ได้ และต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสามเข้าไปในที่ทำงานซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างและได้โทรศัพท์สอบถามนายอาริยาว่าจะให้ขึ้นไปทำงานหรือไม่ เมื่อนายอาริยาสอบถามจำเลยที่ 2 แล้วแจ้งว่าไม่ต้องขึ้นมาทำงาน หรือนายพศินเห็นโจทก์ทั้งสามเดินออกไปจากบริษัทจำเลย เมื่อนายพศินสอบถามนางอติมาได้รับแจ้งว่าโจทก์ทั้งสามไม่สามารถทำงานตามที่จำเลยที่ 2 ต้องการได้และไม่เอาโจทก์ทั้งสามแล้ว ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 โจทก์ทั้งสามได้ขอเข้าพบจำเลยที่ 2 เพื่อทราบความชัดเจนว่าจะให้ทำงานต่อไปหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้เข้าพบเพราะกำลังซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์และไม่ว่างก็ตาม กรณีก็ไม่จำเป็นที่โจทก์ทั้งสามจะต้องขอเข้าพบหรือสอบถามจำเลยที่ 2 เพื่อขอความชัดเจนว่าจะให้โจทก์ทั้งสามทำงานอีกต่อไปหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 แสดงเจตนาชัดแจ้งตามหนังสือทัณฑ์บนให้โอกาสโจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานอีก 1 เดือนนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2551 จึงจะพิจารณาการทำงานต่อไปหรือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามแจ้งต่อ นางอติมาว่าโจทก์ทั้งสามจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือทัณฑ์บนกลับยิ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเอง ดังที่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ทั้งสามเข้าไปทำงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 อีกเพียง 1 วัน หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ก็มิได้ทำงานอีกเลย ทั้งที่ตามหนังสือทัณฑ์บนได้ระบุชัดว่าให้โอกาสโจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงานเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังคงจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 นั้นก็เป็นการจ่ายค่าจ้างตามกำหนดงวดจ่ายเงินค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ซึ่งก็อยู่ภายในกำหนดเวลาที่ให้โจทก์ทั้งสามปรับปรุงการทำงาน เมื่อไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยที่ 1 โดยการกระทำของจำเลยที่ 2 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานอีกต่อไปอย่างเด็ดขาดและไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งจะทำให้สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทั้งสามสิ้นสุดลง อันจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามความหมายของมาตรา 118 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วข้างต้นจึงเห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังประสงค์ให้โจทก์ทั้งสามทำงานต่อไป แต่เป็นฝ่ายโจทก์ทั้งสามที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเองตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม