คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง กับให้เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอในสำนวนแรกว่า ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอในสำนวนหลังว่า ขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสองและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งนางนุชรี ผู้คัดค้านที่ 1 กับนายกิตติ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 2,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ทั้งสองศาลและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ในศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้แย้งคัดค้านว่า นางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตาย เป็นบุตรของนายพิบูลย์และนางเง็กกิม บิดามารดาของผู้ตายมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางเง็กกิมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายพิบูลย์ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะสาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีทรัพย์เป็นมรดกหลายรายการ และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) คงมีเฉพาะทายาทโดยธรรมลำดับ (6) เท่านั้น ในชั้นไต่สวนผู้ร้องอ้างพินัยกรรมเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2545 ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกเป็นบ้าน 3 หลัง พร้อมที่ดิน 3 แปลง ให้แก่ผู้ร้อง และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนทรัพย์สินอื่นให้ตกแก่ทายาททุกคนเท่ากัน ระบุว่า นางสุภาพรเป็นผู้เขียนและพยาน กับมีนายเมธินทร์เป็นพยาน โดยผู้ร้องอ้างนางสุภาพรและนายเมธินทร์เป็นพยานเบิกความรับรองว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวจริง หลังจากนางสุภาพรและนายเมธินทร์เบิกความแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 โดยอ้างใบเรียกเก็บเงินและรายละเอียดการใช้บัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสของผู้ตายเป็นพยานเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดตามมาตรา 88 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องแถลงคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทราบถึงการมีอยู่ซึ่งเอกสารดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านทั้งสองประสงค์จะใช้เอกสารที่ขออ้างเป็นพยานเพิ่มเติมเพื่อนำสืบหักล้างคำเบิกความของนางสุภาพรและนายเมธินทร์ ว่าเป็นพยานที่ไม่ควรเชื่อฟัง ตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และเพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปโดยยุติธรรม ตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงอนุญาตให้ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างเอกสารดังกล่าวพยานเพิ่มเติมได้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2547 ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นเพื่อจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาที่ว่าศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารรายละเอียดการใช้บัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสของผู้ตายตามบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากผู้ร้องจะอุทธรณ์ก็จะต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาในการโต้แย้ง ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องโต้แย้งเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2547 จึงเป็นการโต้แย้งไว้แล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นพยานตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ของผู้คัดค้านทั้งสองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเหตุผู้ร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อพ้นแปดวัน ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่ชอบ เพราะกำหนดระยะเวลาแปดวันตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ มิใช่กำหนดระยะเวลาในการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณา ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น…
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการที่สามว่า นางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตาย ได้ทำพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ทั้งยังอ้างพินัยกรรมเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลส่อไปในทางไม่สุจริต หากตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกอาจก่อความเสียหายต่อทายาทอื่นและกองมรดกได้ จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของนางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตาย และมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 บัญญัติว่า “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา …” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวรวมทั้งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดกทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้นไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย และ (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และ ลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของนายพิบูลย์ ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620 มาตรา 1629 และมาตรา 1630 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาทจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 และสมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้แล้วปัญหาว่านายพิทักษ์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางนุชรี ผู้คัดค้านที่ 1 และนายกิตติ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวทิพย์วรรณ ผู้ตายร่วมกันโดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นทั้งสองสำนวนแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

Share