แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วไม่อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 การประเมินจึงยุติ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าหนังสือแจ้งการประเมินไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าการประเมินที่ยังมีผลสมบูรณ์โดยไม่ถูกเพิกถอนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคสอง เป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพื่อปฏิเสธความรับผิดในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากร
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และมาตรา 1087
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 18,446,112 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 18,446,112 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรเพิ่มเติม โดยจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติว่า “…ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกำหนดได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน…” ทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด การประเมินจึงเป็นที่ยุติแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องโดยอ้างว่า การประเมินของเจ้าพนักงานอันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ได้จัดให้มีเหตุผลจึงไม่ชอบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป” ทั้งในวรรคสองก็บัญญัติรับรองอีกว่า “คำสั่งทางปกครองย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน…” และมาตรา 44 วรรคหนึ่งยังบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว” นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด” ซึ่งในกรณีคำสั่งทางปกครองทั่วไปย่อมต้องบังคับไปตามกฎหมายดังกล่าว ส่วนกรณีคดีภาษีอากรนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้รับการประเมินต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หากไม่อุทธรณ์ภายในเวลาดังกล่าวย่อมมีผลให้การประเมินนั้นถือเป็นอันยุติ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 บัญญัติการฟ้องคดีในศาลภาษีอากรสำหรับคดีอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ตามมาตรา 7 (1) หากกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น แสดงให้เห็นว่า กฎหมายถือว่าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญจึงกำหนดเป็นเงื่อนไขในการที่จะใช้สิทธิทางศาลต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนการนำคดีมาสู่ศาล เพื่อให้เจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นว่านั้นได้พิจารณาอุทธรณ์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือรายละเอียดต่าง ๆ เสียชั้นหนึ่งก่อน โดยให้องค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแก้ไขหรือทบทวนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองให้ถูกต้องก่อนที่จะนำคดีขึ้นวินิจฉัยโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีต่อไป และปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินโดยเห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการประเมิน และถ้าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่มีเหตุผลและไม่ใช่กรณีเป็นเหตุที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่ต้องระบุเหตุผล เจ้าพนักงานก็อาจจัดให้มีเหตุผลในภายหลังได้ก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ทำให้ไม่ถือว่าคำสั่งทางปกครองไม่สมบูรณ์อีกเช่นกันตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41 แต่จำเลยที่ 1 กลับหาใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรดังกล่าวไม่ อันส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจโต้แย้งการประเมินนั้นจะมีผลให้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นอันยุติ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดำเนินคดีฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าว และย่อมไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าการประเมินที่ยังมีผลสมบูรณ์ โดยไม่ถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคสอง เป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพื่อปฏิเสธความรับผิดในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ยุติไปตามการประเมินดังกล่าวแล้วได้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) และมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วว่าเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ