คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตาม มาตรา 38 นั้น ได้สิ้นไปแล้ว หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งสิ้นก่อนโจทก์ฟ้องคดีหรือจะสิ้นสุดในระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล คดีนี้แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ผ่อนชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพิพาทเป็น 3 งวด และโจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกำหนด โดยผ่อนชำระก่อนฟ้อง 2 งวด แต่การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนที่จะผ่อนชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินงวดที่ 3 อันเป็นงวดสุดท้ายก็ยังถือเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องก่อนชำระค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวทั้งสิ้น แต่เพิ่งมาชำระหลังจากได้ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางจะรับฟังไว้พิจารณามิได้ บทบัญญัติ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 39 เป็นบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้จะฟ้องคดี ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงยกบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นชี้ขาดคดีได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และ 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ ที่ สป 73101/239 ลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 446,079 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งเก้า โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปีภาษี 2550 ต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้กำหนดค่ารายปีและประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่เป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 166,512.36 บาท และในส่วนที่ดินที่เป็นสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐานจำนวน 18 หลุม เนื้อที่ประมาณ 744,912 ตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 372,456 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีทั้งสิ้น 538,968.36 บาท โจทก์ผ่อนชำระเงินค่าภาษีตามกำหนด โดยก่อนฟ้องชำระแล้ว 2 งวด โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยโต้แย้งว่าในส่วนของอาคารและโรงจอดรถ จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีโดยไม่นำค่ารายปีประจำปีภาษี 2549 มาเป็นหลักในการคำนวณภาษีประจำปีภาษีพิพาทและในส่วนที่ดินที่เป็นสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐาน 18 หลุม มิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วให้ยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องคดีนี้พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น ซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา 38 นั้น ได้สิ้นไปแล้ว หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งสิ้นก่อนโจทก์ฟ้องคดีหรือจะสิ้นสุดลงในระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล คดีนี้แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ผ่อนชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพิพาทเป็น 3 งวด และโจทก์ได้ผ่อนชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกำหนด โดยผ่อนชำระก่อนฟ้องจำนวน 2 งวด ก็ตาม แต่การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนที่จะผ่อนชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในงวดที่ 3 อันเป็นงวดสุดท้าย ก็ยังถือเป็นกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องก่อนชำระค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวทั้งสิ้นแต่เพิ่งมาชำระหลังจากได้ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางจะรับฟ้องไว้พิจารณามิได้ บทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 เป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้จะฟ้องคดี ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงยกบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นชี้ขาดคดีได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และ 142 (5) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share