แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยตายเสียก่อนที่ศาลพิพากษานั้นเมื่อไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้างขึ้นมา จะถือว่าศาลได้รู้ข้อเท็จจริงนี้แล้วไม่ได้
จำเลยตายก่อนศาลพิพากษาแต่ความปรากฏต่อศาลภายหลังศาลพิพากษาแล้วนั้น คำพิพากษานั้นก็คงสมบูรณ์
ในคดีแพ่งเมื่อปรากฏต่อศาลว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นดำเนินคดีหาทายาทเข้ารับมรดกความ
ย่อยาว
คดีนี้ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาภายหลังจำเลยตายแล้วคำพิพากษานั้นจะใช้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แสดงว่า ต้องเป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลแล้วว่า คู่ความฝ่ายใดตาย ศาลจึงจัดการตามที่บัญญัติไว้ แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาไปแล้ว ภายหลังโจทก์จึงมาร้องว่า จำเลยที่ 1 ตายศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินคดีหาทายาทเข้ามารับมรดกความแทนที่คู่ความผู้มรณะ ก็เป็นการถูกต้องตามวิธีพิจารณาแล้ว โจทก์จะขอให้ศาลฎีกาตัดสินว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใช้ไม่ได้เพราะตัดสินเมื่อจำเลยที่ 1 ตายแล้วนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติดังนั้นความมรณะของคู่ความที่ปรากฏต่อศาลภายหลังคำพิพากษา จะเรียกว่ามรณะก่อนศาลพิพากษาคดีตามนัยมาตรา 42 นี้ไม่ได้ เพราะศาลไม่อาจล่วงรู้เหตุการณ์ซึ่งนอกเหนือจากคำพยานหลักฐานในสำนวน จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์