คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144-1146/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การในตอนแรกว่า โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม แต่กลับให้การในอีกตอนหนึ่งว่า โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่า หนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้จึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่คำให้การจำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง และเป็นเพียงข้อเถียงข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามคำฟ้องเท่านั้น จะแปลว่าเป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับภายหลังทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2527 ไม่ได้ เพราะจำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน
จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาว่าปลอมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับในคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสามฉบับดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาดังกล่าว และโจทก์จำเลยในคดีแพ่งกับคดีอาญาเป็นคู่ความเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237-5238/2539 การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งในคดีส่วนอาญาดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่ฉบับ (ซึ่งรวมถึงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.11, จ.22 และ จ.25 ด้วย) เป็นเอกสารปลอม เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและหากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ได้ให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินให้โจทก์จำนวน 132,500 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน จำเลยไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม เนื่องจากโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่าหนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้ และโจทก์นำสัญญาที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้มากรอกข้อความเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23206, 23239, 23240, 23245, 23246, 23248, 23251, 23252, 23258, 23223, 23267, 23270, 23254, 23255 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 11452 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินให้โจทก์ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 26 มกราคม 2529 จำนวน 52,500 บาท และฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 จำนวน 80,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้โดยโจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายในสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.11, จ.22 และ จ.25 และใบรับเงินตามเอกสารหมาย จ.16 (รวม 4 ฉบับ) จ.23 (รวม 4 ฉบับ) และ จ.34 (รวม 2 ฉบับ) ไว้จริง คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1056/2533 (หมายเลขแดงที่ 963/2537) และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1154/2533 (หมายเลขแดงที่ 974/2537) เป็นคดีที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องว่าปลอมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับในคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน และศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามพฤติการณ์แห่งคดี พยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 4 ฉบับ (ซึ่งรวมถึงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในคดีนี้ด้วย) ด้วยเป็นเอกสารปลอม
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง ชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การในตอนแรกว่าโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม แต่กลับให้การในอีกตอนหนึ่งว่า โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่า หนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้น หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การจำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง และเป็นเพียงข้อเถียงข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามคำฟ้องเท่านั้น จะแปลว่าเป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับภายหลังทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2527 ไม่ได้ เพราะจำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน ส่วนโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความมีสาระสำคัญว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลย 3 ครั้ง รวม 15 แปลง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 วันที่ 26 มกราคม 2529 และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1056/2533 (หมายเลขแดงที่ 963/2537) และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1154/2533 (หมายเลขแดงที่ 974/2537) จำเลยฟ้องโจทก์ว่าปลอมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับในคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสามฉบับดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าว และโจทก์จำเลยในคดีแพ่งกับคดีอาญาเป็นคู่ความเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237-5238/2539 การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งในคดีส่วนอาญาดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นเอกสารปลอม เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับกับโจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความสรุปว่า โจทก์ชำระราคาบางส่วนในวันทำสัญญา และผ่อนชำระส่วนที่เหลือจนครบโดยชำระเงินสดบ้าง หักหนี้กันบ้าง และเช็คบางฉบับก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ตามเช็ค จดหมายที่จำเลยมีถึงโจทก์ ใบฝากเงินสด ใบรับเงินสด และใบคืนเช็ค ส่วนจำเลยเบิกความว่า โจทก์ไม่เคยจ่ายเงินให้แก่จำเลย เป็นเรื่องที่โจทก์ทำหลักฐานขึ้นมาเอง เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายมีลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้ขาย ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสามฉบับดังกล่าวระบุว่ามีการชำระเงินบางส่วนในวันทำสัญญา และในใบรับเงินปรากฏลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้รับเงิน ทางนำสืบของจำเลยจึงขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าวที่มีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ

Share