แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ขอให้ศาลริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่า จำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12,000 เม็ด อาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ซองกระสุนปืน 1 ซอง กับกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. จำนวน 11 นัด ดังนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใด ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงและมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งที่มิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32
การที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำความผิดตามฟ้องถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คืนอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน 1 ซอง) แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,200,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 (ที่ถูก มาตรา 78) ประกอบมาตรา 53 (เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย) เป็นจำคุก 33 ปี 8 เดือนและปรับ 800,000 บาท รวมจำคุก 33 ปี 20 เดือนและปรับ 800,000 บาท ริบเมทเอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คืนอาวุธปืนและซองกระสุนปืน 1 ซอง แก่เจ้าของ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ทั้งนี้ให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลดโทษให้เหตุจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมแต่ยังคงลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้มีอัตราโทษถึงประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง บังคับให้เจ้าพนักงานของรัฐต้องจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความร่วมรับฟังในชั้นสอบสวนไม่ว่าผู้ต้องหาจะปฏิเสธหรือรับสารภาพก็ตามเพราะไม่มีบทยกเว้นให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนแห่งบทบัญญัติของกฎหมายพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 12,000 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 332,798 กรัม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป มีโทษถึงประหารชีวิตตามมาตรา 66 วรรคสาม การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาอยู่ในบังคับมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง เป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา เมื่อพิจารณาตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.8 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลย ตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การ โดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่าถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่า จำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยถูกจับขณะขับรถยนต์ที่ใช้ในขณะเกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12,000 เม็ด อาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ ซองกระสุนปืน 1 ซอง กับกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 มม. จำนวน11 นัด ดังนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึง ความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,200,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 เป็นจำคุก 33 ปี 8 เดือน และปรับ 800,000 บาท เป็นการคำนวณโทษผิดพลาด ที่ถูกเป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษตามโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดโดยมิได้แก้ไขจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ อีกทั้งการที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลชั้นต้นลดโทษเพียงบางข้อหาและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ลดโทษให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือนและปรับ 800,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือนและปรับ 800,000 บาท และให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1