คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824-7825/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเลือกฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีล้มละลาย โดยไม่ฟ้องเป็นคดีแพ่งสามัญก่อนนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ใช้สิทธิทางศาลมากกว่าหนึ่งศาลได้ตามแต่ที่จะเห็นสมควร โดยขึ้นอยู่กับสภาพและรูปเรื่องแต่ละคดีไป การที่จำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีดังกล่าวไม่ได้เป็นคู่สัญญาและไม่ได้เป็นตัวการที่มอบหมายให้บริษัท ร. กับพวกไปทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยตามที่กล่าวอ้างเป็นมูลหนี้มาในคำฟ้องเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยนำพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมานำสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจนส่อเจตนาไม่สุจริตในการฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานที่จำเลยนำสืบมา ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งก่อนและหลังฟ้องคดีว่าจำเลยมีพฤติการณ์ใช้การฟ้องคดีเป็นเครื่องมือในการต่อรองเชิงบีบบังคับทวงหนี้ ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีก็มีมูลเหตุอันสมควรให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองกับบริษัท ร. น่าจะมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดถึงขนาดเป็นตัวการตัวแทนที่จะต้องร่วมกันรับผิดในมูลค่าจ้างที่ยังค้างอยู่ด้วย การฟ้องคดีล้มละลายของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่าการที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลล้มละลายกลางเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขัดกับคำวินิจฉัของศาลฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทั้งสองสำนวนมาจากมูลเหตุเดียวกัน กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยต้องถือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง คนละ 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลชั้นต้นแต่ละสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 6,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์สำนวนละ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนได้ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทเดียวกัน มีนายจักรี หรือนางเจษฎางค์ หรือนายณัฐพงศ์ เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนได้ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทโรโตพลาส จำกัด ให้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณโรงงานของโจทก์ที่ 1 ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างทำระบบบำบัดน้ำเสียเอกสารหมาย จ.4 และต่อมาเดือนกรกฎาคม 2542 บริษัทโรโตพลาส จำกัด ได้ไปว่าจ้างช่วงให้จำเลยจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียอีกทอดหนึ่ง ตามสำเนาหนังสือว่าจ้างทำระบบบำบัดน้ำเสียเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2543 จำเลยได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองและบริษัทโรโตพลาส จำกัด กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยถอนฟ้องตามสำเนาหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2544 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.11
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การฟ้องคดีล้มละลายของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของจำเลยที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเอกสารหมาย จ.5 มีเนื้อหาใจความและรายการครบถ้วนเช่นคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 จนศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาเช่นคดีอื่นๆ และที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.11 นั้นด้วยเหตุผลเพียงเพราะจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีดังกล่าวไม่ได้เป็นคู่สัญญาและไม่ได้เป็นตัวการที่มอบหมายให้บริษัทโรโตพลาส จำกัด กับพวกไปทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยตามที่กล่าวอ้างเป็นมูลหนี้มาในคำฟ้องเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยนำพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมานำสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจนส่อเจตนาไม่สุจริตในการฟ้องโจทก์ทั้งสองดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่เป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานที่จำเลยนำสืบมา ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งก่อนและหลังฟ้องคดีว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใช้การฟ้องคดีเป็นเครื่องมือในการต่อรองเชิงบีบบังคับทวงหนี้ อีกทั้งโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจยังเบิกความรับอีกว่า จำเลยเป็นผู้รับจ้างช่วงจากบริษัทโรโตพลาส จำกัด คู่สัญญาของโจทก์ที่ 1 และรู้เห็นการทำงานก่อสร้างของจำเลยอีกทั้งการจ่ายเงินค่างวดด้วย เพียงแต่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมีมูลเหตุอันสมควรให้จำเลยเชื่อแล้วว่า โจทก์ทั้งสองกับบริษัทโรโตพลาส จำกัด น่าจะมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดถึงขนาดเป็นตัวการตัวแทนกันที่จะต้องร่วมกันรับผิดในมูลค่าจ้างที่ยังค้างอยู่เมื่อทวงถามแล้วไม่ชำระจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับการชำระหนี้ได้ ส่วนที่จำเลยเลือกฟ้องเป็นคดีล้มละลายโดยไม่ฟ้องเป็นคดีแพ่งสามัญก่อนนั้น เห็นว่า มูลหนี้และจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ กฎหมายเปิดช่องให้จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ใช้สิทธิทางศาลมากกว่าหนึ่งศาลได้ตามแต่ที่จะเห็นสมควรโดยขึ้นอยู่กับสภาพและรูปเรื่องแต่ละคดีไป ดังที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสภาพและสถานะลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายล้มละลาย มาตรา 8 นอกจากนี้ผลกระทบต่างๆ ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบล้วนเป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายที่ดำเนินต่อมาหลังการฟ้องคดี มิใช่ผลจากการฟ้องคดีของจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การที่ฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลล้มละลายกลางดังกล่าวไม่เป็นการกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง แม้คดีของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่า การที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลล้มละลายกลางเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทั้งสองสำนวนมาจากมูลเหตุเดียวกัน กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยต้องถือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share