คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036-3038/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ หาได้บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกระทำโดยนายจ้างหรือสหภาพแรงงานต้องยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 25 วรรคสาม แต่เพียงประการเดียวไม่ แต่กฎหมายดังกล่าวยังได้บัญญัติถึงกระบวนแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ในมาตรา 23 (5) อีกทางหนึ่งด้วย โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจ “ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้าง” ดังนั้น หากคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ปรับปรุงสภาพการจ้างใดโดยกระทำด้วยการปรึกษาหารือกันโดยชอบ กล่าวคือ มีการพิจารณาโดยถูกต้องตามขั้นตอนและมีเหตุผลเพียงพออีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว การปรับปรุงสภาพการจ้างตามกระบวนการนี้ย่อมมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนในรัฐวิสาหกิจรวมถึงฝ่ายบริหารด้วย ไม่ว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างนั้นจะทำให้สภาพการจ้างต่ำกว่าเดิมหรือลดประโยชน์ของลูกจ้างก็ตาม เมื่อปรากฏว่าการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ได้กระทำโดยมีการเสนอการปรับปรุงเป็นวาระการประชุมต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลย และคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลยได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่าเล่าเรียนบุตรของผู้ปฏิบัติงานซึ่งหมายถึงพนักงานการเคหะแห่งชาติและลูกจ้างทุกประเภทที่ได้ประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามที่กระทรวงการคลังกำหนดแทนหลักเกณฑ์เดิมที่มีสิทธิได้รับตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ให้นำเสนอการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวต่อคณะกรรมการเคหะแห่งชาติต่อไป และต่อมาคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ประชุมแล้วให้ความเห็นชอบในการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 (2) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อนตามมาตรา 13 วรรคท้าย กระบวนการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ที่แก้ไขใหม่นี้จึงมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามด้วย โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามฟ้องโดยอาศัยข้อบังคับการเคหะแห่งชาติว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 ข้อ 5 อันเป็นข้อบังคับฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรส่วนที่ขาดแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นเงินคนละ 13,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยเพิกถอนข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 แก้ไขเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 และให้ใช้ข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ฉบับเดิมแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การแก้ไขปรับปรุงเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรเป็นสภาพการจ้าง ไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับในการทำงาน คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์จึงไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 (3) นอกจากนั้น มาตรา 23 (5) บัญญัติว่า คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้าง ซึ่งตามอนุมาตรานี้บัญญัติให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่เพียงปรึกษาหารือเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปรับปรุงสภาพการจ้างด้วย ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงสภาพการจ้างของจำเลยตามข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลบังคับโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นเงินคนละ 13,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม และให้เพิกถอนข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาที่ว่า การแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เสียก่อน โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจปรึกษาหารือหรือพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 (5) อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ใช้กับรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรของรัฐในการทำความตกลงเกี่ยวกับข้อบังคับในการทำงานและสภาพการจ้าง โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมเป็นกรรมการการแก้ไขปรับปรุงสภาพการจ้างจึงไม่จำต้องกระทำโดยการยื่นข้อเรียกร้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หาได้บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกระทำโดยนายจ้างหรือสหภาพแรงงานต้องยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 25 วรรคสาม แต่เพียงประการเดียวไม่ แต่กฎหมายดังกล่าวยังได้บัญญัติถึงกระบวนแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ในมาตรา 23 (5) อีกทางหนึ่งด้วย โดยบัญญัติให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจ “ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้าง” ดังนั้น หากคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ปรับปรุงสภาพการจ้างใดโดยกระทำด้วยการปรึกษาหารือกันโดยชอบ กล่าวคือมีการพิจารณาโดยถูกต้องตามขั้นตอนและมีเหตุผลเพียงพออีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว การปรับปรุงสภาพการจ้างตามกระบวนการนี้ย่อมมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนในรัฐวิสาหกิจรวมถึงฝ่ายบริหารด้วย ไม่ว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างนั้นจะทำให้สภาพการจ้างต่ำกว่าเดิมหรือลดประโยชน์ของลูกจ้างก็ตาม เมื่อปรากฏว่าการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ได้กระทำโดยมีการเสนอการปรับปรุงเป็นวาระการประชุมต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลย และคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลยได้พิจารณารวม 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 17 มีนาคม 2546 และวันที่ 21 เมษายน 2546 แล้วที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่าเล่าเรียนบุตรของผู้ปฏิบัติงานซึ่งหมายถึงพนักงานการเคหะแห่งชาติและลูกจ้างทุกประเภทที่ได้ประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามที่กระทรวงการคลังกำหนดแทนหลักเกณฑ์เดิมที่มีสิทธิได้รับตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ให้นำเสนอการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติต่อไป ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ และต่อมาคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 7/2546 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติดังกล่าว โดยประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติลงนามในข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 และเมื่อไม่ปรากฏว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (2) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อนตามมาตรา 13 วรรคท้าย กระบวนการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ที่แก้ไขใหม่นี้จึงมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามด้วยนับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับที่แก้ไขใหม่ ข้อ 2 ดังนั้น นับแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามฟ้องโดยอาศัยข้อบังคับการเคหะแห่งชาติว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 ข้อ 5 อันเป็นข้อบังคับฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรแก่โจทก์ทั้งสามและให้เพิกถอนข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม

Share