คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจที่จะอนุญาตให้คดีขึ้นสู่ การพิจารณาของศาลสูง จะต้อง บันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ ทั้งสองประการตาม ที่มีกำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี โดย ชัดเจนคือ จะต้อง บันทึกความเห็นของตน ให้ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งจะต้อง บันทึกยืนยันด้วย ว่าตน อนุญาตให้อุทธรณ์ได้ การที่สั่งว่า”อนุญาตให้อุทธรณ์” เพียงเท่านี้ ยังถือ ไม่ ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดย ชอบด้วย กฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83,91 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14891/2529 ของศาลแขวงพระนครใต้ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืน หรือใช้เงิน 2,000,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ในระหว่างพิจารณาผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ทั้งสองข้อหา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อนุญาตให้อุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาโจทก์ร่วมแต่เพียงว่า การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้น มีคำสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขอให้อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงว่า “อนุญาตให้อุทธรณ์” นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา193 ตรี บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์…ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้มีอำนาจที่จะอนุญาตให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงนั้น จะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจน คือจะต้องบันทึกความเห็นของตนให้ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึกยืนยันด้วยว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมว่า “อนุญาตให้อุทธรณ์” เพียงเท่านี้ ยังถือไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมาย…”
พิพากษายืน.

Share