แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจะเกิดมีขึ้นเมื่อใดนั้นจะต้องพิจารณาจากวันคลอดบุตรของผู้ประกันตนประกอบกับผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่ แม้โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่คลอดบุตร แต่ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด กรณีที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธิ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าภายในระยะเวลา 1 ปีดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ยังไม่อาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจากจำเลยได้ เนื่องจากมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการส่งเงินสมทบระหว่างนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยว่าจะต้องส่งเงินสมทบกรณีคลอดบุตรและตายเพียงใด ต่อมาหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว นายจ้างของโจทก์ทั้งสี่เพิ่งส่งเงินสมทบย้อนหลังกรณีคลอดบุตรและตายให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 โจทก์ทั้งสี่จึงอยู่ในฐานะที่อาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยได้นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรของโจทก์ทั้งสี่ต่อจำเลย ถือว่าเป็นการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจำนวน 4,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเป็นเวลา 90 วัน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การเป็นใจความเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสี่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานแล้ว ระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 56 ที่กำหนดนั้น ต้องนับแต่วันที่มีสิทธิมิใช่นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่รู้หรือควรรู้ โจทก์ทั้งสี่ได้ใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากองค์การค้าของคุรุสภาแล้วมาขอรับประโยชน์ทดแทนซ้ำอีกเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ 797 ถึง 800/2544 ลงวันที่ 6 กันยายน 2544 ของจำเลยให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรโดยจ่ายค่าคลอดบุตร 4,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรร้อยละห้าสิบของค่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเป็นเวลา 90 วัน พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (12 พฤศจิกายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า องค์การค้าของคุรุสภาได้นำส่งเงินสมทบส่วนของนายจ้างและส่วนของลูกจ้างในกรณีคลอดบุตรและตายย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 โดยนำส่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 เรียบร้อยแล้ว โจทก์ที่ 1 คลอดบุตรเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 โจทก์ที่ 2 คลอดบุตรเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 โจทก์ที่ 3 คลอดบุตรเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2540 และโจทก์ที่ 4 คลอดบุตรเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2544 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2544 เห็นว่า สิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจะเกิดมีขึ้นเมื่อใดนั้นจะต้องพิจารณาจากวันคลอดบุตรของผู้ประกันตน ประกอบกับผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่คลอดบุตรก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด กรณีที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงในคดีนี้เมื่อปรากฏว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่อาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจากจำเลยได้เนื่องจากมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการส่งเงินสมทบระหว่างองค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยว่า จะต้องส่งเงินสมทบกรณีคลอดบุตรและตายเพียงใด ต่อมาหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว องค์การค้าของคุรุสภาเพิ่งส่งเงินสมทบย้อนหลังกรณีคลอดบุตรและตายนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 ฉะนั้น โจทก์ทั้งสี่จึงอยู่ในฐานะที่อาจใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อจำเลยได้ นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรของโจทก์ทั้งสี่ต่อจำเลย ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แล้ว คำสั่งของจำเลยที่ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน