แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองคดีฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า ในขณะกระทำผิดนางกาญจนาจำเลยถูกผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้และโจทก์ร่วมในคดีนี้ ฟ้องว่าได้ร่วมกับพวกฉ้อโกงทรัพย์ของนางหลักม่วยโจทก์ร่วมไปเป็นเงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษและใช้เงินคืน ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองสำนวนได้ร่วมกันกระทำเพื่อมิให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยนางกาญจนาจำเลยสำนวนแรกได้ขายฝากที่ดินของตนจำนวน ๑ แปลง ให้แก่นางอัมพร ประไพตระกูล จำเลยในสำนวนหลังไปเป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดไถ่ถอนใน ๑ ปี ต่อมานางกาญจนาได้ปลดเงื่อนไขการไถ่ถอนการขายฝากให้กับนางอัมพรจำเลยผู้ซื้อฝาก โดยไม่มีการเพิ่มเงินเป็นผลให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางอัมพรจำเลยผู้รับซื้อฝากที่ดินแปลงนี้และสิ่งปลูกสร้างมีราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาท และนางอัมพรจำเลยได้โอนขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ต่อไปอีก ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษนางกาญจนากับพวก และให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อบังคับให้จำเลยชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาทได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓ และให้ใช้เงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ในระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ นางหลักม่วยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต และเรียกนางกาญจนาว่าจำเลยที่ ๑ นางอัมพรว่าจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ก็เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการดำเนินคดี และการที่จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากที่ดินไว้ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับซื้อฝากโดยมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลดเงื่อนไขการขายฝากหรือสละสิทธิการขายฝากนั้น ไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้น และไม่ใช่เป็นการโอนให้แก่ผู้ซื้อเพราะกรรมสิทธิ์ได้โอนไปในขณะขายฝากแล้ว และไม่ใช้เป็นการแกล้งให้ตนเป็นหนี้ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา
คดีมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การที่จำเลยที่ ๑ ปลดเงื่อนไขจากการไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นการโอนให้แก่ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ หรือไม่
ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ถูกผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้ฟ้องว่าร่วมกับพวกฉ้อโกงโจทก์ร่วมขอให้ใช้เงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดที่ ๑๓๐๔๓ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินปลดเงื่อนไขการไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดที่ ๑๓๐๔๓ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้กับจำเลยที่ ๒ ในที่สุดคดีนั้น ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงได้ดำเนินคดีทั้งสองสำนวนนี้ขึ้น
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด การสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝากจึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน