คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821-1822/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายซึ่งศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทุกคนสมัครใจวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันนั้น แม้จำเลยเพียงบางคนเท่านั้นอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่มิได้อุทธรณ์กระทำโดยป้องกันอันเป็นเหตุยกเว้นความผิด ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์นั้น แล้วยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่มิได้อุทธรณ์นั้นได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ไม่ใช่เหตุลักษณะคดีตามมาตรา 213
จำเลยผู้ร่วมกระทำผิดย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน คดีแรก โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในคดีหลัง ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีหลังหาว่าร่วมกับพวกทำร้ายโจทก์จนบางคนได้รับอันตรายถึงสาหัส ส่วนคดีหลังอัยการโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยที่ ๑ ถึง ๗ ซึ่งรวมทั้งโจทก์ในคดีแรกทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม๒๕๑๒ ที่ตำบลหอรัตนชัย อำเภอและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๗ (สำหรับสำนวนแรก) และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ (สำหรับสำนวนหลัง) ประกอบด้วยมาตรา ๘๓
จำเลยต่อสู้ว่าป้องกันทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งหมดในสำนวนหลังได้กระทำผิดจริงดังฟ้อง โดยเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ อีกฝ่ายหนึ่งทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ ๑, ๒, ๕, ๖ และ ๗ คนละ ๒ เดือน ปรับคนละ ๓๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๓, ๔ อายุไม่เกิน ๑๗ ปี (ขณะกระทำผิด) ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่ง คงจำคุกคนละ ๑ เดือน ปรับคนละ ๑๕๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ทุกคน ส่วนสำนวนแรกศาลฟังว่าโจทก์เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคดีแรกเสีย
โจทก์คดีแรก ทั้งในฐานะจำเลยในคดีหลัง อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในคดีแรกทุกคนตามฟ้อง และให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับตนเป็นจำเลยในคดีหลัง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า นายวิเชียร กลำพบุตร จำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้อุทธรณ์นั้นได้กระทำการโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ส่วนโจทก์ที่อุทธรณ์นี้กับพวกเป็นฝ่ายกลุ้มรุมทำร้ายจำเลยที่ ๑ ศาลอุทธรณ์ถือว่าการป้องกันเป็นเหตุลักษณะคดีแม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับนายวิเชียรจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้แล้วยืน
โจทก์ทั้งสามจึงฎีกาต่อมา ศาลสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ทั้งสามคนนั้นเถียงว่า (๑) การป้องกันตัวของจำเลยที่ ๑ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังแล้วยกฟ้องโจทก์ (สำนวนที่ ๒) เสียนั้น ไม่ใช่เหตุลักษณะคดี ถ้าฟังว่าเป็นเหตุลักษณะคดี ก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับบุคคลทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยร่วมด้วย และ (๒) เมื่อไม่ใช่เหตุลักษณะคดีเช่นนั้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ในสำนวนหลังดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยการกระทำส่วนตัวของแต่ละบุคคล โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๕ วรรค ๒ จึงไม่ใช่เหตุในลักษณะคดี ที่จะยกฟ้องไปถึงโจทก์ทั้งสามในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในคดีหลัง ฎีกาโจทก์ทั้งสามในฐานะที่เป็นจำเลยในคดีอัยการโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาโจทก์ทั้งสามให้ลงโทษนายวิเชียรจำเลยที่ ๑ ในฐานะโจทก์ในสำนวนแรกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเสียแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฎีกา
ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทั้งสองประเด็น พิพากษายืน

Share