คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และ 134 ตรี เป็นบทบัญญัติสำหรับการสอบสวนเด็กและผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นการบังคับเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งอันมีเหตุสมควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิวรรคห้า คดีนี้จำเลยกระทำผิดและถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งปรากฏในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่าจำเลยมีทนายความหรือไม่ต้องการทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มีทนายความ และไม่ต้องการผู้ใดเข้าร่วมฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วยซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ ฉะนั้นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่มิได้มีการสอบสวนก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีหลายคนนำหินอ่อนขนาดกว้าง 30 เซนติเมตรยาว 60 เซนติเมตร จำนวน 290 แผ่น ราคา 53,200 บาท อันเป็นของต้องเสียภาษีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องเสียภาษีอากรเป็นเงิน 20,801 บาท รวมราคาของและค่าภาษีอากรจำนวน 74,001 บาท โดยนำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยบริเวณท่าเรือ ท่าทรายเงินไทย หมู่บ้านหาดแฮ่หมู่ที่ 5 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและโดยหินอ่อนจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้เสียภาษีและไม่ผ่านด่านศุลกากรซึ่งเป็นการฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดินที่จะต้องเสียภาษีสำหรับของนี้ คดีนี้มีผู้ขอรับสินบนนำจับแจ้งเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมหินอ่อนของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 3, 4,5, 6, 7, 8 ริบของกลางจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับและจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 27 (ที่ถูกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย) ปรับ 296,004 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 148,002 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนร้อยละ 30 และจ่ายรางวัลร้อยละ 25 ของเงินที่ได้จากการขายของกลาง กรณีไม่อาจขายของกลางได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมายและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิบัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปีและผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอหรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยานให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย” มาตรา 134 ตรี บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวหมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนจะต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย บทบัญญัติดังกล่าวบังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีเว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า คดีนี้จำเลยได้กระทำผิดและถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปี 11 เดือน 14 วัน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ แต่เมื่อพิเคราะห์สำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารท้ายฟ้องแล้ว ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ต้องการทนายความหรือผู้ใดที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่า จำเลยไม่มีทนายความและไม่ต้องการผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน เมื่อจำเลยแถลงเช่นนี้ พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ เช่นนี้การสอบสวนในกรณีนี้จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ เมื่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น ด้วยเหตุนี้พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามฟ้องที่มิได้มีการสอบสวนก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share