แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากห้องเช่าอันมีค่าเช่าไม่เกินเดือนละสองพันบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง นั้น เมื่อคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ศาลชั้นต้นสั่งรับโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยให้ ดังนี้ เมื่อคู่ความนั้นฎีกาต่อมาอีกศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะเมื่อเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ๖ สำนวนโดยอ้างว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทของโจทก์เพื่อใช้ประกอบการค้ามีกำหนด ๑ ปี นับแต่ ๑ มกราคม ๒๕๐๓ ในอัตราค่าเช่าเดือนละ ๔๕ บาท, ๖๐ บาท, ๔๐ บาท , ๔๕ บาท, ๔๕ บาท และ ๔๕ บาท ตามลำดับ จำเลยได้ใช้ห้องพิพาทประกอบการค้าตลอดมา เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว โจทก์ให้จำเลยออกจากห้องพิพาท จำเลยยังคงอยู่ต่อมาอีก ทำให้โจทก์เสียหาย คือ ขาดประโยชน์จากเงินกินเปล่าปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท และค่าเช่าอีกเดือนละ ๕๐๐ บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าเสียหายปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ และชำระค่าเสียหายเดือนละ ๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจาห้องพิพาท
จำเลยให้การมีใจความว่า ห้องพิพาทอยู่ในเขตเทศบาล จำเลยเช่าเพื่ออยู่อาศัยเป็นสำคัญ ย่อมได้รับความคุ้มครอบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า ฯ กับต่อสู้เป็นประการอื่นด้วย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ห้องพิพาทตั้งอยู่ริมถนนซึ่งเป็นทำเลการค้า จำเลยมีเจตนาเช่าห้องพิพาทเพื่อใช้ประกอบการค้า หาใช่เพื่ออยู่อาศัยดังที่ให้การต่อสู้ไม่ ห้องพิพาทจึงไม่ใช่เคหะอันจำเลยจะได้รับความคุ้มครอบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า ฯ และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า ฯ พิพากษาให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนในอัตราเท่าค่าเช่านับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไป
จำเลยอุทธรณ์ (ปัญหาแรกจำเลยอุทธรณ์ว่าห้องพิพาทเป็นเคหะควบคุมได้รับความคุ้มครอบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า ฯ โดยอ้างเหตุผลว่า ๑ โจทก์นำสืบยอมรับว่า เมื่อครั้งจำเลยเช่าห้องพิพาทจากบิดาโจทก์นั้นห้องพิพาทยังไม่อยู่ในทำเลการค้า เพิ่งมาเป็นทำเลการค้าเมื่อ ๗ – ๘ ปีมานี้ จำเลยกับครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทมาแต่แรกเช่าจนปัจจุบัน และจำเลยก็นำสืบได้สมว่ามีเจตนาเช่าเพื่ออยู่อาศัย โจทก์ไม่ได้สืบหักล้างว่าจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาการเช่าใหม่ จึงต้องฟังตามข้อนำสืบของจำเลยว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยจริง ๒. ฟังได้ตามเอกสาร ๓ ฉบับของจำเลยว่า จำเลยเช่าอยู่อาศัย ๓. เมื่อฟังว่าจำเลยเช่าเพื่ออาศัยมาแต่แรกเช่า แม้ภายหลังจำเลยจะทำเลการค้าในห้องพิพาทด้วย ห้องพิพาทก็ยังเป็นเคหะอยู่นั่นเอง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายด้วย โดยศาลจดแจ้งปัญหาข้อนี้ว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ห้องพิพาทเป็นเคหะอันจำเลยจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่า ฯ หรือไม่)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน(โดยวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังจากพยานหลักฐานในห้องสำนวน ประกอบกับสภาพของห้องพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นเผชิญสืบตรวจดู และการที่จำเลยทำสัญญาเช่าระบุว่าเช่าเพื่อทำการค้า จำเลยใช้ห้องพิพาทประกอบการค้า เห็นว่าเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเช่าห้องพิพาทเพื่อใช้ประกอบการค้า มิใช่เพื่ออยู่อาศัย ห้องพิพาทจึงไม่ใช่เคหะ)
จำเลยฎีกาต่อมา ศาลชั้นต้นก็สั่งรับเป็นข้อกฎหมายเช่นเดียวกับชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้อที่กล่าวนี้ว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงว่า จำเลยเช่าห้องพิพาทเพื่อประกอบการค้าในห้องพิพาท แม้จำเลยจะกินอยู่หลับนอนในห้องพิพาทก็เพื่อควบคุมดูแลการค้า ห้องพิพาทจึงไม่เป็นเคหะ จำเลยฎีกาว่า ต้องฟังตามข้อนำสืบของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเช่าห้องพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แม้ห้องพิพาทจะอยู่ในทำเลการค้า และจำเลยได้ทำการค้าในห้องพิพาท ก็หาทำให้ห้องพิพาทไม่เป็นเคหะไม่ ฎีกาจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ และเมื่อเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
เมื่อวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นด้วยแล้ว พิพากษายืน