คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9196-9215/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษกว่าคดีแพ่งทั่วไป โดยประสงค์จะให้ข้อพิพาทระงับไปด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบไว้ โดยศาลแรงงานจะระบุให้โจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้โดยไม่คำนึงว่าฝ่ายนั้น ๆ จะมีภาระการพิสูจน์อย่างเช่นคดีแพ่งทั่วไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในภายหลัง จึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และให้ถือว่าเป็นพยานของศาลทั้งศาลแรงงานมีอำนาจซักถามพยานไม่ว่าพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเองหรือที่คู่ความอ้างก็ตาม และในการบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลแรงงานอาจจะบันทึกข้อความแต่โดยย่อก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 ประกอบ มาตรา 46 ซึ่งแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป การที่ศาลแรงงานกลางจดบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์แถลงพร้อมทั้งแนบเอกสารเช่นใบเสร็จรับเงินเดือนและอื่น ๆ โดยทนายจำเลยตรวจดูแล้วไม่โต้แย้งคัดค้าน โจทก์ไม่สืบพยานและขอให้ศาลแรงงานกลางตัดสินคดีตามคำฟ้อง คำให้การและบันทึกรายการกับเอกสารที่โจทก์เสนอต่อศาล จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางรับบันทึกรายการต่าง ๆ ของโจทก์ที่ยื่นเสนอต่อศาลไว้เป็นพยานหลักฐานของศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่งแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาโดยให้ถือว่าบันทึกรายการดังกล่าวเป็นคำเบิกความของโจทก์ซึ่งเป็นการเกินเลยไปและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม กรณีไม่อาจถือว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน

ย่อยาว

(กมล เพียรพิทักษ์ – สกนธ์ กฤติยาวงศ์ – จรัส พวงมณี)

Share