คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941-942/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขัดทรัพย์อันเป็นเท็จต่อศาล ไม่เป็นผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 158 เพราะการฟ้องเท็จที่จะเป็นผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นการกล่าวโทษผู้อื่นในคดีอาญา
เมื่อโจทก์ตั้งใจฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 158 แล้ว ศาลจะลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา118 ไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์สืบสมตามฟ้อง เป็นแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไป ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม วรรคสี่
เมื่อศาลได้พิจารณาคดีทั้งสองรวมกันและให้รวมกระทงลงโทษจำเลยแล้ว ก็เป็นอันนับโทษจำเลยทั้ง 2 คดีต่อเนื่องกันไม่ได้

ย่อยาว

คดีแรกโจทก์ฟ้องว่า

1. จำเลยร่วมกันทำปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายยาง 2 ฉบับ โดยตั้งใจจะใช้เป็นหนังสือสำคัญและเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาลโดยรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้เสียความสัตย์จริงในคดี

2. จำเลยที่ 1 ได้ปลอมบัญชีของห้างหุ้นส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือสัญญาปลอมดังกล่าวในข้อ 1.

3. จำเลยสมคบกันให้จำเลยที่ 2, 3 กับทนายความอ้างอิงและใช้หนังสือสัญญาและบัญชีปลอม เป็นพยานต่อศาลในคดีร้องขัดทรัพย์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นพยานหลักฐานเท็จ อันอาจเป็นเหตุให้เสียความสัตย์จริงในคดี

ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 224, 227, 157, 155, 63, 64, 65, 70, 71 และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 3) มาตรา 4

จำเลยปฏิเสธ

ศาลจังหวัดภูเก็ตวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ว่านายตันเซ่งเงี๊ยบไม่ได้เป็นหุ้นส่วนด้วย ในฐานะส่วนตัวนายตันเซ่งเงี๊ยบไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะเป็นการกระทำต่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน จึงให้ยกฟ้อง

คดีที่ 2 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามสมคบกันทำคำร้องขัดทรัพย์อันเป็นเท็จ ยื่นต่อศาลขอให้สั่งถอนการยึดทรัพย์ โดยทุจริตคิดจะกีดกันเอายางที่เจ้าพนักงานศาลยึดไว้ ไปเสียจากอำนาจศาล เพื่อฉ้อโกงห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วน และเบิกความเท็จขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 158, 155, 63, 65, 70, 71 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2477 (ฉบับที่ 3) มาตรา 4 และขอให้สั่งนับโทษต่อจากคดีแรก

จำเลยปฏิเสธ และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย

ศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาฟ้องของโจทก์ในคดีที่ 2 แล้ว เห็นว่าคำร้องขัดทรัพย์แม้จะเป็นเท็จก็ไม่เป็นฟ้องเท็จ เพราะการที่จะเป็นฟ้องเท็จตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 158 นั้นจะต้องเป็นการร้องเรียนหรือกล่าวโทษผู้อื่นว่าเขากระทำความผิดทางอาญาโจทก์ในส่วนตัวหรือในฐานะรับมอบอำนาจ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องเบิกความเท็จต่อไป

โจทก์อุทธรณ์ทั้ง 2 สำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 5 ฎีกา แล้วโจทก์ขอถอนฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 4 ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 41,42/2493 ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาเรื่องอำนาจของทนายนั้น ได้ความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความอุทธรณ์ฎีกาได้พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เฉพาะจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 5 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5ศาลอนุญาตคงพิจารณาแต่เฉพาะจำเลยที่ 1, 2, 3 ทั้งสองสำนวน

ก่อนศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอแก้ฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง และศาลจะเห็นสมควรสั่งอนุญาตหรือไม่เพียงไรนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163, 164 สำหรับกรณีนี้จะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 227, 228 มาบังคับดังโจทก์ฎีกาหาได้ไม่พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 575/2494

ในตอนต่อมา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีทั้งสองนี้รวมกันแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาฟังว่า หนังสือสัญญาซื้อขายยางระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม ซึ่งได้คิดทำขึ้นโดยไม่เป็นความจริงเพื่อเป็นหลักฐานประกอบข้ออ้างในการที่จำเลยที่ 2 ร้องขัดทรัพย์ต่อศาลและบัญชีซื้อขายยางก็เป็นบัญชีปลอม และถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในศาลโดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นพยานหลักฐานเท็จ จำเลยที่ 1-2 จึงผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 224, 227, 157, 155, 63 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญาพ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 3) มาตรา 4 ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การฟ้องเท็จที่จะมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 158 นั้น ต้องเป็นการกล่าวโทษผู้อื่นในคดีอาญาในคดีนี้ จำเลยเป็นแต่สมคบกันยื่นคำร้องขัดทรัพย์เท็จเท่านั้นการกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นผิดตามมาตรา 158 ที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 118 ฐานแจ้งความเท็จอีกฐานหนึ่งนั้นศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองไม่เห็นสมควรให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นการชอบแล้ว เพราะถ้าจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำขอ ก็ต้องให้โอกาสจำเลยยื่นคำให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะทำให้คดีชักช้าไปโดยไม่สมควร อนึ่งเมื่อโจทก์ตั้งใจฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานฟ้องเท็จตาม มาตรา 158 เช่นนี้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า จะลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118 ไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย และไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์สืบสมตามฟ้องแล้ว เป็นแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไป จึงเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 3-4 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าได้ร่วมทำผิดกับจำเลยที่ 1-2 ด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้รวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 224, 227, 155, 157,63 และ 71 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2477 มาตรา 4 มีกำหนดคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2000 บาทถ้าไม่เสียค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยในคดีที่ 2 ต่อจากโทษในคดีที่ 1 นั้น เมื่อศาลได้พิจารณาคดีทั้งสองรวมกันและให้รวมกระทงลงโทษจำเลยแล้วก็เป็นอันนับโทษจำเลยทั้ง 2 คดี ต่อเนื่องกันไม่ได้ให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3

Share