คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723-737/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยแต่งงานกับคนต่างด้าว(จีน) อันจะทำให้จำเลยศูนย์เสียสัญชาติตาม มาตรา4 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 นั้นโจทก์จะต้องสืบให้แน่ชัดว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าในขณะที่แต่งงานกฎหมายสัญชาติของคู่แต่งงานของจำเลยบัญญัติให้จำเลยมีสัญชาติของสามี มิฉะนั้นศาลไม่ถือว่าจำเลยสูญเสียสัญชาติเพราะการแต่งงาน
แม้เมื่อจำเลยแต่งงานกับคนต่างด้าวแล้วเข้าใจผิดว่าตนสูญเสียสัญชาติและไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นคนต่างด้าว อันจะต้องต่อใบสำคัญเมื่อหมดอายุ
การที่จำเลยไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหากจะเป็นกรณีเข้า มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2496 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยกลายเป็นคนต่างด้าวก็เป็นเรื่องต้องถือว่าจำเลยเพิ่งเป็นคนต่างด้าวเมื่อใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2496 ซึ่งจำเลยจะต้องไปแจ้งความเพื่อขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากเจ้าพนักงานใน 30 วัน จำเลยไม่ไปจัดการดังกล่าวก็ย่อมมีผิดแต่ข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องมา จึงลงโทษจำเลยยังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีความทำนองเดียวกันว่าจำเลยทุกสำนวนเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักร มีบิดาเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน ต่อมาจำเลยได้สมรสกับคนสัญชาติจีน ได้รับสัญชาติจีนตามสามี และจำเลยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ใบสำคัญประจำตัวของจำเลยหมดอายุที่ได้ต่อครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2495 (เว้นแต่นางน้อย แซ่อุย จำเลย หมดอายุที่ต่อครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2494 และนางสมเวียง แซ่เจียกับนางกิม แซ่เจียหมดอายุที่ต่อครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 97) ครั้นเมื่อใบสำคัญประจำตัวของจำเลยหมดอายุดังกล่าวแล้ว จำเลยได้บังอาจฝ่าฝืนกฎหมายไม่ไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อขอต่ออายุใบสำคัญประจำตัวภายใน 7 วันนับแต่วันที่หมดอายุตามกฎหมาย และจำเลยยังไม่ได้ต่ออายุตลอดมาจนถึงวันฟ้องนี้เหตุเกิดที่ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 13, 20 และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2495 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2496 มาตรา 5

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่จำเลยสมรสกับคนต่างด้าวจะเสียสัญชาติหรือไม่ ต้องถือตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 4 ที่ใช้อยู่ขณะจำเลยแต่งงาน มาตรา 4 มีบัญญัติว่า หญิงไทยผู้ทำการสมรสกับคนต่างด้าวย่อมสละสัญชาติไทย แม้ว่ามีกฎหมายแห่งชาติของสามีบัญญัติให้หญิงนั้นถือเอาสัญชาติของสามีได้ฉะนั้นจำเลยเหล่านี้จะสูญเสียสัญชาติก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีกฎหมายสัญชาติของสามีให้จำเลยได้รับสัญชาติของสามีแล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องสืบ แต่ที่โจทก์สืบมาฟังได้ไม่แน่นอนจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกลายไปเป็นคนต่างด้าวตามสามี ไม่มีทางลงโทษจำเลยได้

ต่อมาเมื่อใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 แล้วหากจำเลยจะต้องสูญเสียสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัตินี้ ก็เป็นเรื่องจำเลยเพิ่งสูญเสียสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และถ้าจำเลยจะมีผิดก็เป็นความผิดฐานไม่ไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากนายทะเบียนภายใน 30 วันตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ซึ่งข้อนี้โจทก์มิได้ฟ้องมา จำเลยจึงไม่ผิดฐานไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวดังฟ้อง

โจทก์ฎีกา ซึ่งศาลสั่งรับฎีกาเพียงข้อกฎหมาย ที่ว่า ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่จำเลยรับมานั้นเป็นใบสำคัญประจำตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ. 2493 แล้ว ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของจำเลยมีผลใช้ได้ตลอดมา เมื่อจำเลยไม่ขอต่ออายุใบสำคัญประจำตัวของจำเลยตามฟ้องจำเลยจึงต้องมีผิด

ศาลฎีกาเห็นชอบตามข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน

Share