คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862-863/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นิติกรรมสัญญาขายฝากทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมสัญญาการกู้เงินนิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝากย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญากู้เงินที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรกต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้แม้นิติกรรมสัญญากู้เงินจะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายชื่อผู้กู้เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาขายฝากก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าเอกสารการขายฝากเป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมีผลบังคับได้ (เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2239/2517)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกนายทวีธีระภาพ ว่าโจทก์ นางคำอิ้ง สนไพโรจน์ เป็นจำเลยที่ 1 นายศิริพจน์ สนไพโรจน์เป็นจำเลยที่ 2 ทั้ง 2 คดี

คดีแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และสามี แต่ได้ทำอำพรางเป็นสัญญาขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้อื่นมาเกี่ยวข้องกับทรัพย์ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 และสามีตกลงจะไม่เอาทรัพย์นั้นเป็นสิทธิแม้นานเท่าใดก็ตาม ประสงค์แต่ดอกเบี้ยต่อมาโจทก์ไม่ชำระดอกเบี้ยตามที่จำเลยเรียกร้อง จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต เพราะจำเลยทราบเรื่องสัญญาดังกล่าวดีอยู่แล้ว ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 รับชำระหนี้และโอนที่ดินคืนให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า ไม่ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนการกู้เงิน โจทก์ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริต และยอมให้โจทก์เช่าอยู่ ต่อมาโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าจึงได้ฟ้องขับไล่ ก่อนนั้นโจทก์เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 แล้วค้างค่าเช่าจึงขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งมีใจความเดียวกับคำฟ้องและว่าโจทก์ไม่ได้เช่าบ้าน ไม่เคยค้างค่าเช่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง

คดีหลังจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยได้รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยยอมเสียค่าตอบแทนเท่ากับที่เคยเช่าจากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ชำระค่าตอบแทนตามกำหนด จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ให้อยู่ต่อไปได้บอกกล่าวให้โจทก์ออกไปแล้ว โจทก์ไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายให้เป็นรายเดือน

โจทก์ให้การใจความเช่นเดียวกับฟ้องในคดีแรก

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นการขายฝาก โจทก์ไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด มิใช่เรื่องที่โจทก์กู้เงินแล้วทำนิติกรรมขายฝากอำพราง เพราะโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญากู้มาแสดง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าเช่าและค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นมีว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินหรือไม่ เห็นว่า การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งนิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝาก ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญากู้เงินที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรก ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้แม้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาขายฝากก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเอกสารการขายฝากเป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมีผลบังคับได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2239/2517 คดีระหว่างนายประสิทธิ์ เนาวิรัตน์ กับพวก โจทก์ นายสกล สำเร็จ จำเลย ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากอำพรางสัญญากู้ สัญญาขายฝากก็เป็นโมฆะ สัญญากู้มีผลบังคับได้ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้และประเด็นข้ออื่นเสียใหม่

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share