แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวในหนองสาธารณะซึ่งผู้เสียหายปลูกต้นข้าวไว้โดยต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัวจนเป็นเหตุให้ต้นข้าวเน่าตายไปจำนวนหนึ่ง เช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเจตนาทำให้เสียทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2518 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าโดยใช้เรือพายและถ่อเข้าไปในหนองหางระแวง ทำให้ต้นข้าวซึ่งนางจรูญ อินทรานทูมกสิกรหว่านปลูกไว้ ต้นหักขาดตายและเสื่อมราคา ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน2,000 บาท เหตุเกิดที่ตำบลท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 150 บาท จำเลยที่ 4 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ลดโทษปรับ 75 บาท คำเบิกความของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 คนละ 100 บาท ปรับจำเลยที่ 4 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลยที่ 6 อายุ 13 ปี ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีเจตนาเพียงเข้าไปเก็บบัว ไม่มีเจตนาเข้าไปทำลายต้นข้าวของผู้เสียหาย พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ผู้เสียหายจะอ้างสิทธิครอบครองในหนองสาธารณะที่ปลูกข้าวไว้ไม่ได้ และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์ในหนองนี้เท่าเทียมกับผู้เสียหายจริง แต่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้ต้นข้าวที่ผู้เสียหายปลูกไว้เสียหายตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทราบอยู่ว่าผู้เสียหายซึ่งอยู่บ้านใกล้ ๆ กับจำเลยได้ปลูกข้าวไว้ที่นั่น และเมื่อจำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัวก็ต้องเห็นต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้ จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง แล้ว
พิพากษากลับ เป็นให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น