คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385-419/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พยานเอกสารของโจทก์จะระบุพยานเพียงว่า “คำร้องของลูกจ้างให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทนายความฯ” ซึ่งมิได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจนถึงสภาพของเอกสารที่อ้าง อันเป็นการระบุพยานที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 44 และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ซึ่งออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29ให้อำนาจศาลแรงงานสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้างแล้วจดรายชื่อและที่อยู่ของพยานบุคคล สภาพและสถานที่เก็บของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไว้ หรือจะให้คู่ความทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลแรงงานในวันนั้นหรือภายในกำหนด 2 วัน ก็ได้ หากศาลแรงงานเห็นว่าพยานที่คู่ความนำมาสืบยังไม่ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดีแจ้งชัด ศาลก็มีกำหนดตามมาตรา 45 ที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง ตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) และมาตรา 88มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ เมื่อศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองหรือกำหนดให้คู่ความนำพยานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารซึ่งโจทก์อ้างส่งเป็นพยาน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสิบห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 5667/2542 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 36 แต่โจทก์ในคดีดังกล่าว(โจทก์ที่ 27) ขอถอนฟ้อง คดีจึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสามสิบห้าสำนวนนี้

โจทก์ทั้งสามสิบห้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายค่าล่วงเวลา เงินประกัน และเงินสะสมแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 20 และที่ 33 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วันของเงินค่าจ้างนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามสิบห้าสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 20 และที่ 33 แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลา รวมทั้งจะต้องคืนเงินประกันและจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์ทั้งสามสิบห้าตามบัญชีค่าจ้างค้างจ่ายเอกสารหมาย จ.2 การที่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบห้าจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ทั้งสามสิบห้ามีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างค้างจ่ายและค่าล่วงเวลา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินประกันและเงินสะสม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายค่าล่วงเวลา เงินประกัน และเงินสะสม ตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างค้างจ่าย กับค่าล่วงเวลาและอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินประกันกับเงินสะสมนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบห้า

จำเลยทั้งสามสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า พยานเอกสารที่โจทก์ทั้งสามสิบห้านำเสนอต่อศาลแรงงานกลางในการพิจารณาคดีไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้เนื่องจากโจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2542 โจทก์ทั้งสามสิบห้าได้ยื่นบัญชีพยานต่อศาลแรงงานกลางระบุพยานรวม 7 อันดับ เป็นพยานบุคคล 4 อันดับ และพยานเอกสาร 3 อันดับและศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว แม้พยานเอกสารอันดับ 6 โจทก์ทั้งสามสิบห้าจะระบุพยานเพียงว่า “คำร้องของลูกจ้างให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นทนายความฯ” ซึ่งมิได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจนถึงสภาพของเอกสารที่อ้างอันเป็นการระบุพยานที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 29บัญญัติหลักการสำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานไว้ว่า จะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม หากประเด็นใดคู่ความไม่อาจตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ มาตรา 39 ก็บัญญัติให้ศาลแรงงานจดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลังแล้วกำหนดวันสืบพยานไปทันที ในการสืบพยานของคู่ความ มาตรา 44 และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ซึ่งออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 ให้อำนาจศาลแรงงานสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้าง แล้วจดรายชื่อและที่อยู่ของพยานบุคคล สภาพและสถานที่เก็บของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไว้ หรือจะให้คู่ความทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลแรงงานในวันนั้นหรือภายในกำหนด 2 วัน ก็ได้ หากศาลแรงงานเห็นว่าพยานที่คู่ความนำมาสืบยังไม่ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดีแจ้งชัด ศาลก็มีอำนาจตามมาตรา 45 ที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ เมื่อศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองหรือกำหนดให้คู่ความนำพยานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้ดังกล่าวมาแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบห้าอ้างส่งเป็นพยาน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

พิพากษายืน

Share