แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รถจักรยานยนต์ที่เจ้าพนักงานตำรวจเห็นจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกกำลังถอดชิ้นส่วนอยู่ขณะเข้าตรวจค้นนั้นไม่ใช่ของผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานรับของโจรเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยประการใดต่อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้เห็นเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ลำพังพฤติการณ์ที่ได้ความเพียงว่าอาศัยอยู่ในบ้านที่ตรวจค้นพบโครงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนรู้เห็นร่วมกระทำความผิดฐานรับของโจร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวันได้มีคนร้ายหลายคนลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน ภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์จำเลยทั้งห้ากับนายไพศาล ภู่แก้ว และเด็กชายทรงพล ทองบุญเรือง ซึ่งเป็นเยาวชนได้แยกไปดำเนินคดีต่างหากแล้วได้ครอบครองโครงตัวรถ (ตัวถัง) ของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับนายไพศาลและเด็กชายทรงพลได้พร้อมด้วยโครงตัวรถ (ตัวถัง) ดังกล่าวเป็นของกลาง และต่อมาจับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้โดยตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยทั้งห้ากับนายไพศาลและเด็กชายทรงพลเป็นคนร้ายร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป หรือมิฉะนั้นระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวันถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งห้ากับนายไพศาลและเด็กชายทรงพลร่วมกันรับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจากคนร้ายทั้งนี้โดยจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 4 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 เดือนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5290/2539 ของศาลชั้นต้น ภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ 4 ได้กระทำความผิดในคดีนี้อีก และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5467/2540 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 701/2541 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6818/2540 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 5 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7616/2540 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 461/2541 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83, 92 เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 กับนับโทษจำเลยทั้งห้าต่อตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในแต่ละคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และจำเลยที่ 4 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูกมาตรา 357 วรรคแรก), 83 ฐานร่วมกันรับของโจรจำคุกคนละ 3 ปี ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 4 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 2 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6818/2540 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 461/2541 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5329/2541, 5467/2540 และ 701/2541 (ที่ถูกคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5467/2540, 701/2541) ของศาลชั้นต้น และคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5467/2540 และ 7616/2540 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ ความผิดฐานอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกเอนก อุ่นเดช เป็นพยานเบิกความว่าได้เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 101/5 ซอย 21 หมู่บ้านปัญญา ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวงเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร เห็นจำเลยที่ 2 ที่ 3 นายไพศาล ภู่แก้ว และเด็กชายทรงพล ทองบุญเรือง กำลังถอดชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิ สีขาวแดง หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 8 ม – 4860 และพบของกลางประมาณ 27 รายการ จึงยึดไว้ตามบันทึกรายการทรัพย์สินที่ตรวจยึด ซึ่งโครงตัวรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอยู่ในอันดับที่ 6 ของเอกสารดังกล่าว นางนงลักษณ์ ภู่แก้ว ผู้นำตรวจค้นบ้านดังกล่าวบอกว่าของกลางประมาณ 27 รายการนั้นเป็นของจำเลยที่ 1 ขณะรวบรวมของกลางอยู่นั้นจำเลยที่ 1 เดินเข้ามาในบ้านพอดี ร้อยตำรวจเอกเอนกจึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1 พร้อมจำเลยที่ 2 ที่ 3 นายไพศาลและเด็กชายทรงพลไปดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร เห็นว่า จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเอนกพยานโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปอย่างไร ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่ารถจักรยานยนต์คันที่ร้อยตำรวจเอกเอนกเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกกำลังถอดชิ้นส่วนอะไหล่อยู่นั้นเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิ สีขาวแดง มิใช่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ส่วนโครงตัวรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ร้อยตำรวจเอกเอนกตรวจยึดเป็นของกลางก็พบอยู่ในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุซึ่งกองรวมอยู่กับชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์คันอื่น จำเลยที่ 2 และที่ 3 พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายและจำเลยที่ 3 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 1 ร้อยตำรวจเอกเอนกได้จับบุคคลที่อยู่ในบ้านทุกคนทั้งผู้หญิงและเด็กมิได้ละเว้นผู้ใด โดยนางนงลักษณ์เจ้าของบ้านผู้นำตรวจค้นถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 นายไพศาลและเด็กชายทรงพลถูกดำเนินคดีฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของตนซึ่งตรงกับที่นางนงลักษณ์บอกให้ร้อยตำรวจเอกเอนกทราบแต่แรกที่ตรวจค้นพบ เมื่อความผิดฐานรับของโจรเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยประการใดต่อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้เห็นเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ลำพังพฤติการณ์ที่ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาศัยอยู่ในบ้านที่ตรวจค้นพบโครงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะให้รับฟังถึงกับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนรู้เห็นร่วมกระทำความผิดฐานรับของโจรหาได้ไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา โจทก์มีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวพันถึงจำเลยที่ 2 นั้นไม่ตรงกับความจริงและจำเลยที่ 1 ลงชื่อโดยยังไม่ทันได้อ่านข้อความ เมื่อคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อโต้แย้งไม่กระจ่างชัดว่าตรงตามความจริงและเป็นไปโดยสมัครใจหรือไม่ ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน