แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนขายที่นาพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เพิ่งทราบหลังจากการชี้สองสถาน จึงขอแก้ไขคำฟ้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อบังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อที่นาพิพาทอีก ทอด หนึ่ง ให้โอนขายแก่โจทก์ด้วย เห็นได้ชัดว่าข้อเท็จจริงดังกล่าว เพิ่งเกิดขึ้นหลังวันชี้สองสถาน โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ ก่อนวันชี้สองสถาน ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ขายที่นาพิพาทให้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่แจ้งและเสนอขายให้โจทก์ในฐานะผู้เช่า ก่อนโจทก์จึงฟ้องขอบังคับซื้อที่ดินนาพิพาทจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ขณะคดีอยู่ ในระหว่าง พิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้จดทะเบียนโอนขาย ที่นาพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้แก้ไขคำฟ้องเพื่อบังคับ จำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วย เป็นการแก้ไข คำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179(2) มีความเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม โจทก์มีสิทธิ ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวกล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ยอมส่งโฉนดที่พิพาทตามคำสั่งศาลเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน เพราะจำเลยทั้งสามตั้งใจโอนที่นาพิพาทเพื่อไม่ให้โจทก์บังคับคดี ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โอนที่นาพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 กำลังบอกขายที่นาพิพาทเพื่อให้พ้นจากการบังคับคดี ของ โจทก์จึงขอให้ศาลอายัดที่นาก่อนศาลมีคำพิพากษา คำร้องของโจทก์ เป็น การขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอนขาย ยักย้าย หรือ จำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254(2) แม้โจทก์จะใช้คำว่าขอให้อายัด ก็แปลได้ว่าเป็นการ ขอให้ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนนั่นเอง เมื่อตามคำร้องปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โอนที่นาพิพาทให้จำเลยที่ 1 ในระหว่าง การพิจารณา และจำเลยที่ 1 กำลังบอกขายให้บุคคลอื่นต่อไป พอชี้ ให้เห็นความตั้งใจของจำเลยทั้งสามว่าจะจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อ ขัดขวางแก่การบังคับตามคำบังคับคดี ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย ทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับซื้อ ที่นาพิพาท หากจำเลยที่ 1 จะขายที่นาพิพาทต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ตามสิทธิที่จะซื้อก่อน ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 และหากขายที่นาพิพาทไปแล้วผู้ซื้อก็ต้อง รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 28ซึ่งโจทก์ได้รับความคุ้มครอง อยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าปล่อยให้จำเลยโอนที่นาพิพาทไปยังบุคคลภายนอก แม้โจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่ง ที่นาพิพาท โจทก์ต้องไปดำเนินการ เพื่อ บังคับซื้อจากบุคคลภายนอก ผู้รับโอนตามมาตรา 54 ใหม่ ทำให้เกิด ภาระ แก่โจทก์ไม่มีที่สิ้นสุด โจทก์จึงมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 254(2) ศาลชั้นต้นต้องรับ คำร้อง ของโจทก์ไว้ไต่สวน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าได้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1179ตั้งแต่ยังเป็นของนายโสภณ ศุภจิตร เพื่อทำนา ต่อนายโสภณ ศุภจิตรขายฝากที่ดินดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ไถ่คืน ที่ดินจึงเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ทั้งห้าก็เช่าจากจำเลยที่ 1 ตลอดมาต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3โดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าทราบ โจทก์ทั้งห้าได้ร้องเรียนต่อกำนันซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเกษตรกรรมประจำตำบลหน้าไม้ในที่สุดคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดปทุมธานีมีมติให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โอนขายในราคาที่จำเลยที่ 1ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือตามราคาตลาดในขณะนั้นแล้วแต่ราคาใดสูงกว่ากัน ขณะนั้นที่ดินดังกล่าวราคาไร่ละ 5,000 บาทแต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะให้โจทก์ทั้งห้าซื้อคืนในราคาไร่ละ 20,000บาท ซึ่งโจทก์ทั้งห้าไม่อาจซื้อคืนในราคานั้นได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าในราคาไร่ละ10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,127,500 บาท ให้จำเลยที่ 2ที่ 3 รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ทั้งห้าในวันจดทะเบียนการขายที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ทั้งห้าวางเงินต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ของศาลและถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่ 3โอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าต่อไป ในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดนั้นให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิทำนาพิพาทต่อไปตามเดิม
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจโอนให้โจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งหาไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพราะศาลจังหวัดปทุมธานียังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ปทุมธานี คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53, 54เพราะเป็นการซื้อคืนการขายฝากเพื่อประกอบกิจการเอง ตามมาตรา 37เป็นการขายคืนให้นายโสภณ ศุภจิตร เจ้าของที่ดินเดิมที่ขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยนายโสภณให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น การที่โจทก์ทั้งห้าได้ชำระค่าเช่าให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ครั้งหนึ่ง จึงถือว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เช่านาของจำเลยที่ 2ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิขอซื้อคืน หากจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ที่ 3ต้องซื้อตามราคาท้องตลาดขณะที่ซื้อหากจะขายก็ต้องขายไร่ละ 20,000บาท โจทก์ทั้งห้าเช่าที่ดินจากผู้เช่าเดิมเนื้อที่รวมกันทั้งหมดเพียง 105 ไร่เท่านั้น เนื้อที่อีก 7 ไร่ จึงอยู่นอกเหนือคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดปทุมธานี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานในวันที่ 9 ธันวาคม 2531 แล้วนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 มกราคม 2532 แต่เมื่อถึงวันที่ 24 มกราคม2532 โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง อ้างว่าไม่อาจแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน จึงขออนุญาตแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานศาลชั้นต้นสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วกรณีเกิดขึ้นภายหลังฟ้องและเป็นเรื่องระหว่างโจทก์และนางระเบียบ (คงหมายถึงจำเลยที่ 1)อีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากคดีนี้ จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ ให้ยกคำร้อง” ครั้งถึงวันที่ 30 มกราคม 2532 โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้อายัดที่พิพาทเพื่อเป็นการคุ้มครองโจทก์ทั้งห้าเป็นการชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 255 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพียงแต่จำเลยไม่ส่งโฉนดที่ดินเท่านั้น จึงไม่อาจขอคุ้มครองได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่งทั้งสอง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกาคำสั่งทั้งสอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกโจทก์มีสิทธิขอแก้ไขคำฟ้องตามคำร้องที่ยื่นหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531 และนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 มกราคม2532 แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์คือเมื่อวันที่ 24 มกราคม2532 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องอ้างว่าเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนขายที่นาพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เพิ่งทราบหลังจากการชี้สองสถานจึงขอแก้ไขคำฟ้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อบังคับจำเลยที่ 1ในฐานะผู้ซื้อที่นาพิพาทอีกทอดหนึ่งให้โอนขายแก่โจทก์ทั้งห้าด้วยเห็นได้ชัดว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นหลังวันชี้สองสถานโจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน คดีนี้ตามฟ้องเดิมเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขายที่นาพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3โดยไม่แจ้งและเสนอขายให้โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้เช่าก่อน โจทก์จึงฟ้องขอบังคับซื้อที่นาพิพาทจากจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้จดทะเบียนโอนขายที่นาพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้แก้ไขคำฟ้องเพื่อบังคับจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วยเป็นการแก้ไขคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(2) มีความเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
ปัญหาต่อไปมีว่า คดีมีเหตุคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์หรือไม่เห็นว่าตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวกล่าวว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ยอมส่งโฉนดที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน เพราะจำเลยทั้งสามตั้งใจโอนที่นาพิพาทเพื่อไม่ให้โจทก์บังคับคดี ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โอนที่นาพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 กำลังบอกขายที่นาพิพาทเพื่อให้พ้นจากการบังคับคดีของโจทก์ จึงขอให้ศาลอายัดที่นาพิพาทก่อนศาลมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอนขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) แม้โจทก์จะใช้คำว่าขอให้อายัด ก็แปลได้ว่าเป็นการขอให้ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนนั่นเอง เมื่อตามคำร้องปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โอนที่นาพิพาทให้จำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณา และจำเลยที่ 1 กำลังบอกขายให้บุคคลอื่นต่อไป พอชี้ให้เห็นความตั้งใจของจำเลยทั้งสามว่าจะจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อขัดขวางแก่การบังคับตามคำบังคับซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 แล้วส่วนที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าหากจำเลยที่ 1 จะขายที่นาพิพาทก็ต้องทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบตามสิทธิที่จะซื้อก่อนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 54 หรือหากขายที่นาพิพาทไปแล้ว ผู้ซื้อก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 28ซึ่งให้ความคุ้มครองโจทก์อยู่แล้ว จึงไม่จำต้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 28 เป็นเพียงให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่ากล่าวคือสิทธิการเช่าไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับซื้อที่นาพิพาทตามมาตรา 54 หากปล่อยให้จำเลยโอนที่นาพิพาทไปยังบุคคลภายนอก แม้โจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งที่นาพิพาท โจทก์ต้องไปดำเนินการเพื่อบังคับซื้อจากบุคคลภายนอกผู้รับโอนตามมาตรา 54 ใหม่ ทำให้เกิดภาระแก่โจทก์ไม่มีที่สิ้นสุด โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอคุ้มครองชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องของโจทก์ไว้ไต่สวน
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและให้รับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ไว้ไต่สวนต่อไป.