แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นน้องสาวจำเลยที่ 2 และนางซิ้วจู โจทก์และนางซิ้วจูร่วมกันทำโครงการจัดสรรที่ดินขายด้วยการหาบุคคลอื่นมาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะจัดสรรแทน จำเลยที่ 2 พาโจทก์และนางซิ้วจูไปหานายบุญมี ขอให้ช่วยจัดให้คนงานถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะจัดสรรแทนโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24935 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา นำมาจัดสรรโดยใส่ชื่อคนงานในร้านอาหารของนายบุญมีรวมทั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท ต่อมาโจทก์นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปแบ่งแยกออกเป็น 5 แปลงย่อย โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 19 ตารางวา แทน ต่อมาโจทก์กู้ยืมเงิน 4,000,000 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้และนำที่ดินไปจำนอง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้และนำที่ดินมาจำนอง ต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนในวันที่ 12 มิถุนายน 2545 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ชำระ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 2 จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์มาชำระหนี้รวมทั้งที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2548 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือให้โจทก์ผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือขอลดยอดหนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยินยอม ในวันที่ 29 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ 3,060,000 บาท ให้แก่ธนาคารแทนจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นที่ถูกบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการตอบแทน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงแต่มีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน