คำวินิจฉัยที่ 22/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องโรงเรียนวัดบ้านไร่ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๑๐๕/๒๙ ๒ ชั้น ๔ ห้องเรียน ใต้ถุนโล่ง โดยจำเลยที่ ๒ ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิโครงการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ชำระเงินค่าโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ทราบ จำเลยที่ ๑ ทราบการโอนสิทธิและตกลงให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยที่ ๒ โจทก์วางเงินประกันไว้กับจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ก่อสร้างและส่งมอบงานให้จำเลยที่ ๑ ตามกำหนดจนการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำเลยทั้งสี่เพิกเฉ ไม่ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์จะมิใช่คู่สัญญาโดยตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิโครงการก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์ โดยข้อตกลงกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างและรับผิดชอบในการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนปิดโครงการ โดยจำเลย ที่ ๒ มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว ทั้งโจทก์ได้วางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่จำเลยที่ ๑ ด้วย และได้ก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระเงินให้โจทก์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทกันเกี่ยวด้วยสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๑๐๕/๒๙ ๒ ชั้น ๔ ห้องเรียน ใต้ถุนโล่ง ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก่อสร้างอาคารเรียนพิพาทมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ และโจทก์ ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างเป็นเอกชน และสัญญาก่อสร้างอาคารเรียนเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share