คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7567/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขายห้องชุด ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองโดยไม่ได้ระบุว่าใต้ห้องชุดดังกล่าวเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่ระบุว่าเป็นที่จอดรถ จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญมีผลกระทบต่อการพักอาศัยของผู้บริโภคทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย ผู้บริโภคทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่ผู้บริโภคทั้งสองไม่ได้มีคำขอดังกล่าว คงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้เคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปติดตั้งที่แห่งอื่น เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ติดตั้งไว้ที่อาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของรวม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 การเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่แห่งใหม่ถือเป็นการก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับมติจากคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้บริโภคทั้งสองได้รับความเดือดร้อน มีผลกระทบต่อการพักอาศัย และความปลอดภัยย่อมเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสองมาโดยตลอด กรณีจึงเป็นเรื่องที่วิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้ แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 โดยเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองและเมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ เป็นกรณีไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคทั้งสอง และขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงอีกสองเท่า
จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายห้องชุด จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคทั้งสอง แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปจากบริเวณใต้ห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปจากบริเวณใต้ห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนอาคารชุดตามคำขอของจำเลยที่ 1 คือ อาคารชุดเดอะคีย์ พหลโยธิน ทะเบียนเลขที่ 8/2554 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 53821 จำนวน 4 อาคาร 505 ห้องชุด ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 2 เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าวตามมติของเจ้าของร่วม เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณาขายห้องชุดโครงการเดอะคีย์ พหลโยธิน แก่ประชาชนทั่วไป นางรัชนี และร้อยตำรวจเอกกิติพงศ์ ผู้บริโภคทั้งสองเข้าดูรายละเอียดโครงการแล้วสนใจที่จะซื้อห้องชุดเลขที่ 98/122 ชั้นที่ 2 อาคารบี พื้นที่ประมาณ 33 ตารางเมตร ซึ่งตามเอกสารโฆษณาโครงการไม่ได้ระบุว่าบริเวณใต้ห้องชุดดังกล่าวเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และพนักงานขายของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่จอดรถของผู้พักอาศัยในโครงการ ผู้บริโภคทั้งสองจึงตกลงจองซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 เป็นเงิน 1,850,000 บาท โดยชำระเงินในวันดังกล่าวแล้ว 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองและผู้บริโภคทั้งสองชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ผู้บริโภคทั้งสองเข้าพักอาศัยในห้องชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 โดยไม่ทราบว่ามีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่ใต้ห้องชุดกระทั่งเกิดเหตุไฟฟ้าดับเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2555 เวลากลางคืน แล้วมีเสียงดังอื้ออึงและมีแรงสั่นสะเทือนจากพื้นใต้ห้องอาคารชุดเป็นเวลานาน ในวันรุ่งขึ้นผู้บริโภคทั้งสองสอบถามผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จึงทราบความจริงว่ามีห้องที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่บริเวณใต้ห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสอง ผู้บริโภคทั้งสองแจ้งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่อง จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขเรื่องเสียงดัง แรงสั่นสะเทือน และควันเสีย โดยการติดตั้งยางรองแท่นเครื่องเพิ่มเติม และทำฐานรองรับท่อระบายอากาศต่างหากจากเดิมที่ติดยึดท่อระบายอากาศอยู่ใต้พื้นห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสอง รวมทั้งต่อท่อระบายอากาศให้ยาวพ้นรัศมีของห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสอง แต่ยังมีความสั่นสะเทือนภายในห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสองมีเขม่าควัน กลิ่นน้ำมัน กลิ่นเผาไหม้ และเสียงของเครื่องรบกวนผู้บริโภคทั้งสอง ทำให้ผู้บริโภคทั้งสองได้รับความเดือนร้อนจากการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคที่ไม่ต้องนำพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) มาใช้บังคับในการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่อยู่ใต้ห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสองไปไว้ที่บริเวณอื่นเพื่อมิให้เป็นการละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสองต่อไปอีกนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดเลขที่ 98/122 ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองโดยไม่ได้ระบุว่าใต้ห้องชุดดังกล่าวเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่ระบุว่าใต้ห้องชุดของผู้บริโภคทั้งสองเป็นที่จอดรถ จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญมีผลกระทบต่อการพักอาศัยต่อผู้บริโภคทั้งสองโดยตรง การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาซื้อขายต่อผู้บริโภคทั้งสอง ผู้บริโภคทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่ผู้บริโภคทั้งสองไม่ได้มีคำขอดังกล่าว คงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและให้เคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปติดตั้งที่แห่งอื่นเท่านั้นแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ติดตั้งไว้ที่อาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของรวม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งการเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่แห่งใหม่ถือเป็นการก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับมติจากคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องโดยไม่อาจดำเนินการเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองตามคำขอของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้บริโภคทั้งสองได้รับความเดือดร้อน มีผลกระทบต่อการพักอาศัยในห้องชุดทั้งเรื่องกลิ่นควัน เสียง แรงสั่นสะเทือน และความปลอดภัยย่อมเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสองมาโดยตลอด กรณีจึงเป็นเรื่องที่วิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้ แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นตัวเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท และพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ กระทำการดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคทั้งสอง และขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงอีกสองเท่าเป็นเงิน 2,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่บริเวณดังกล่าว ตามใบรับรองการก่อสร้างอาคารดัดแปลงและเคลื่อนย้ายอาคารมีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคาร/ผู้ครอบครองของอาคาร ออกให้ ณ วันที่ 8 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสอง ทั้งคำขอบังคับของโจทก์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคทั้งสอง ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไปพร้อมกันแม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาเนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้บริโภคทั้งสองคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share