คำวินิจฉัยที่ 136/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ก๊า ผู้ถูกฟ้องคดี ว่าผู้ถูกฟ้องคดีให้ผู้รับจ้างนำรถแบคโฮขุดลอกลำเหมืองบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพียงด้านเดียวไม่ตรงตามแบบ ทำเป็นคันดินขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ทอดยาวตลอดแนวลำเหมืองและขุดลอกลำเหมืองหลายครั้งโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีหายไปประมาณ ๑ งาน ๙๔ ๕/๑๐ ตารางวา ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปรับคันดินตลอดแนวลำเหมืองให้ราบเรียบ และค้นหาหลักเขตที่ดินที่ถูกฝังกลบ กับให้ปรับคืนสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๑๓๘ หรือเลขที่ ๓๒๔๔๑ (เดิม) ให้มีสภาพเต็มเนื้อที่ดังเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้รังวัดสอบเขตที่ดินมีโฉนดรวม ๓ แปลง เพื่อรวมโฉนดเป็นแปลงเดียวกัน และจดทะเบียนแบ่งหักเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์ จำนวน ๑ งาน ๙๔ ๕/๑๐ ตารางวา ที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ได้ขาดหาย แต่ได้เพิ่มมากกว่าเดิมอีก ๑ งาน ๙๕ ๗/๑๐ ตารางวา การขุดลอกลำเหมืองร้องวัวเฒ่าไม่ได้ขุดลอกหลายครั้ง เป็นการขุดลอกเฉพาะวัชพืชและดินเลนที่ตื้นเขินเท่านั้น ไม่ได้ขุดลอกเอาหน้าดินออก เป็นไปตามสภาพลำเหมืองสาธารณะ (ร้องวัวเฒ่า) และตามแบบที่กำหนดไว้ ก่อนขุดลอกได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบตลอด คดีขาดอายุความแล้ว แม้องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ก๊า ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยขุดลอกลำเหมืองบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพียงด้านเดียวไม่ตรงตามแบบ ทำเป็นคันดินขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ทอดยาวตลอดแนวลำเหมืองหลายครั้งโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีหายไปประมาณ ๑ งาน ๙๔ ๕/๑๐ ตารางวา การที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีก็เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่หากที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จะเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจเข้าไปดำเนินการขุดลอกลำเหมืองสาธารณประโยชน์โดยไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ก็เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตนเป็นสำคัญ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share