คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” เมื่อปรากฏหลักฐานว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4801/2543 หมายเลขแดงที่ 7677/2543 ของศาลชั้นต้น และของนางศุจีมาศ แสนแก้ว จำนวน 7 รายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลยที่ 3 ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินทั้ง 7 รายการดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2535 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดและเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามคำร้องซึ่งได้มาโดยสุจริตจากการทำมาหาได้ร่วมกันพอควรแก่ฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพ ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องยื่นคำร้องล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกคำร้องและสั่งคืนทรัพย์สินทั้ง 7 รายการแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้ริบเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 101-24540-7 เงินฝากในบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ ธนาคารออมสิน สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 07-5101-20-104665-4 เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 409-0-00619-8 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง-1291 มหาสารคาม จำนวน 1 คัน ของผู้คัดค้านและริบเงินสดจำนวน 80,000 บาท รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กข-1459 กาฬสินธุ์ จำนวน 1 คัน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 01-2601745 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 1 ก้อน กับแท่นชาร์จ จำนวน 1 อัน ของจำเลยที่ 3 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจสุนัน แสนแก้ว จำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4801/2543 หมายเลขแดงที่ 7677/2543 ของศาลชั้นต้นซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยวว่า ทรัพย์สินตามคำร้องทั้ง 7 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลยที่ 3 และผู้คัดค้าน จึงมีคำสั่งที่ 162/2543 ลงวันที่ 22 กันยายน 2543 ให้ยึดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 มีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 4801/2543 หมายเลขแดงที่ 7677/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น ทรัพย์สินทั้ง 7 รายการที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ในคดีนี้จึงสิ้นสุดลงและต้องคืนทรัพย์สินทั้ง 7 รายการให้ผู้คัดค้าน เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารท้ายฎีกาของผู้คัดค้านโดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 5052/2545 อันเป็นที่สุดให้ยกฟ้อง ดาบตำรวจสุนัน แสนแก้ว จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านอีกต่อไป แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้ ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และให้คืนทรัพย์สินของผู้คัดค้านตามคำร้อง 4 รายการ คือเงินฝากในบัญชีเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนากรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 101-1-24540-7 เงินฝากในบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษธนาคารออมสิน สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 07-5101-20-104665-4 เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (หมาชน) สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 409-0-00619-8 และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยื่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บง 1291 มหาสารคาม แก่ผู้คัดค้าน

Share