แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นกรณีที่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคู่ความ ต้องดำเนินคดีไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หาเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องของผู้ร้องไม่ และไม่ทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง เช่น กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบมาตรา 132 (1) ศาลชั้นต้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ดังกล่าวต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 514/2555 ของศาลชั้นต้น เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นได้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านอีกขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ร่วมกับผู้คัดค้านที่ 4
ผู้คัดค้านที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 และตั้งผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างว่าผู้คัดค้านที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างฎีกาตามแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย (มรณบัตร) เอกสารท้ายคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นเรียกทายาทมาสอบถามแล้วได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 7 ถึงแก่ความตายจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า นางสาวสายใจ ผู้ตาย เป็นบุตรของนายประสาน กับนางลิ้นจี่ ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน ได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 ผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ตายถึงแก่ความตาย
มีปัญหาสมควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ภายหลังผู้คัดค้านที่ 7 ยื่นฎีกาแล้วจึงถึงแก่ความตายจะมีผลอย่างไร เห็นว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันซึ่งการทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 แม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะฎีกาขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียวและคัดค้านการตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับตน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ตั้งผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกย่อมไม่มีผลต่อไป เพราะการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 7 ไม่อาจรับมรดกความกันได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาตามที่ผู้คัดค้านที่ 7 ฎีกาต่อไป ย่อมมีเหตุที่จะจำหน่ายคดีในส่วนฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 ออกเสียจากสารบบความศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (3)
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องแล้ว แต่มิได้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกเพราะเป็นผู้รับพินัยกรรมคนหนึ่งในกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องต่อศาลย่อมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (1) แต่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคู่ความ และต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท ตามมาตรา 188 (4) การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้รับพินัยกรรมของผู้ตายเนื่องจากพินัยกรรมที่อ้างเป็นโมฆะ ทั้งผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หาเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องของผู้ร้องไม่ และไม่ทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้อง ดังเช่นกรณีที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีในเหตุที่มีการทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ประกอบมาตรา 132 (1) ศาลชั้นต้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เกี่ยวกับการมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายที่จะมีสิทธิยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ต่อไป เนื่องจากคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้สิ้นผลหรือตกไปด้วยเหตุดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมิได้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้รับพินัยกรรมในกองมรดกของผู้ตาย ตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 สมควรที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า เมื่อพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เป็นโมฆะ ย่อมทำให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ของผู้ตายมีผลใช้บังคับ ทั้งประเด็นความมีอยู่ของพินัยกรรมฉบับดังกล่าวก็เป็นประเด็นข้อพิพาทซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 กล่าวอ้างในคำคัดค้านและยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ก่อนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เห็นว่า ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่อ้างถึงพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ก็เพื่อบรรยายถึงที่มาของการโต้แย้งว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือกระทำผิดแบบพินัยกรรมอันมีผลให้เป็นโมฆะ หาได้ยืนยันว่าพินัยกรรมฉบับก่อนยังมีผลสมบูรณ์หรือไม่และมีเนื้อหาอย่างไร ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างสิทธิในการคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายโดยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 อ้างสิทธิในการขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าเป็นผู้รับพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าพินัยกรรมฉบับนี้เป็นโมฆะ ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ส่วนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 จะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ และมีข้อความอย่างไร ตลอดจนผู้ตายได้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 โดยการทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจหรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาในคดีอื่น ประเด็นที่ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ยกมาฎีกาในข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกคำคัดค้านและนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อวินิจฉัยมาดังนี้แล้ว จึงไม่ต้องพิจารณาฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน แต่ให้จำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 7 ออกจากสารบบศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 แก่ทายาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ