คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการบังคับจำเลยในทุนทรัพย์ 300,000 บาท มิใช่ราคา 600,000 บาท การคำนวณทุนทรัพย์ของคดีจะต้องคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นราคาที่ตกลงจะซื้อขายกับจำเลย จำเลยไม่เคยโต้เถียงในเรื่องนี้มาก่อนและจำเลยได้ร่วมดำเนินคดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยยอมรับว่าคดีมีทุนทรัพย์ 300,000 บาท เมื่อเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19826 ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาพร้อมกับรับเงิน 300,000 บาท จากโจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 4 ถึงแก่ความตาย นายปัน บิดา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยรับเงิน 300,000 บาท จากโจทก์ทั้งเจ็ด และให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19826 ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดภายใน 7 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งเจ็ด โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงเป็นที่ยุติมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์ทั้งเจ็ดตกลงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 19826 ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะส่วนของจำเลยตามที่จำเลยเสนอขายโดยนัดจำเลยไปโอนที่ดินพร้อมชำระเงินที่สำนักงานที่ดินในวันที่ 29 มีนาคม 2556 และทั้งสองฝ่ายได้ไปยังสำนักงานที่ดินแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยถือว่าโจทก์ทั้งเจ็ดบอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายอันเป็นคำสนองรับไปยังจำเลยผู้เสนอแล้วจึงก่อให้เกิดสัญญาขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์ที่จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน สัญญาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย อันมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เสนอขายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามสัญญาจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมอาศัยหนังสือเสนอขายที่ดิน ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า คดีนี้ที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยมีราคา 600,000 บาท คำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดขอให้บังคับให้จำเลยขายที่ดินที่มีราคาไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท ราคาทรัพย์ที่พิพาทเกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นคือศาลแขวงเชียงใหม่ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการบังคับจำเลยในทุนทรัพย์ 300,000 บาท มิใช่ราคา 600,000 บาท การคำนวณทุนทรัพย์ของคดีจะต้องคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นราคาที่ตกลงจะซื้อขายกับจำเลย จำเลยไม่เคยโต้เถียงในเรื่องนี้มาก่อนและจำเลยได้ร่วมดำเนินคดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยยอมรับว่าคดีมีทุนทรัพย์ 300,000 บาท เมื่อเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ไม่มีผลบังคับเพราะเป็นเอกสารที่ฉีกขาดทั้งฉบับ เห็นว่า สภาพเอกสารฉีกขาดทั้งฉบับหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริง จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ข้อกฎหมายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ เป็นข้อที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share