แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกู้ยืมเงินซึ่งมีจำนำเป็นประกันนั้น ผู้ให้กู้ไม่ถูกผูกมัดให้ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนำก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ผู้กู้ให้รับผิดตามสัญญากู้ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 200,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 15 มีนาคม2525 ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญา คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 45,747.95 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 245,747.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปีจากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เป็นนิติกรรมอำพราง ความจริงนายวัลลภ นรพัลลภ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสัญญากู้ได้ซื้อหุ้นบริษัทศรีเกษตรภาคเหนือ จำกัด และซื้อหุ้นบริษัทศูนย์ตลาดกลางพืชผลภาคเหนือ จำกัด ที่จำเลยเป็นผู้เริ่มก่อการ และเป็นกรรมการจัดการจำนวน 5,000 หุ้น เป็นเงิน 500,000 บาท นายวัลลภจึงกู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ไปจ่ายค่าหุ้น แต่เพื่อให้ได้เงินเร็วตัวแทนโจทก์และนายวัลลภขอให้จำเลยลงนามในสัญญากู้โดยนายวัลลภเอาสมุดเงินฝากประจำ 500,000 บาท ค้ำประกัน และนายวัลลภรับเงินไปจากโจทก์ และโอนเงิน 200,000 บาท เข้าบัญชีของบริษัทศรีเกษตรภาคเหนือ จำกัด ทั้งตามสัญญากู้มีข้อตกลงกันว่า เมื่อหนี้ถึงกำหนด หากจำเลยไม่ชำระเงินต้น ให้โจทก์มีสิทธิหักหนี้เงินกู้จากเงินที่จำเลยฝากอยู่กับโจทก์ได้ทันที และความข้อนี้ให้บังคับถึงการหักหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากของนายวัลลภผู้ค้ำประกันที่นำไปประกันได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว และโจทก์ได้หักหนี้จากบัญชีเงินฝากของนายวัลลภแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่ถูกต้อง เพราะหนี้รายนี้ครบกำหนดวันที่ 15 ธันวาคม 2525 โจทก์มีสิทธิหักเงินต้น 200,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากของนายวัลลภผู้ค้ำประกันแล้วหากจะคิดดอกเบี้ยโจทก์ก็มีสิทธิคิดจากยอดเงินที่ค้างชำระเท่านั้นแต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากยอดเงิน 200,000 บาทด้วย จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 245,747 บาท 95 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ จำนวน 200,000 บาท มีนายวัลลภ นรพัลลภ เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 โดยนายวัลลภได้มอบใบฝากประจำจำนวนเงิน 500,000 บาทของตนที่ฝากประจำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 จำนำเป็นประกันไว้ด้วย จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะเป็นความผิดของโจทก์เองที่มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันและร่วมรับผิดเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 9กับบันทึกสลักหลังใบฝากประจำเอกสารหมาย ล.2 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 9 ที่ว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัด ไม่ชำระเงินตามกำหนดเวลาในสัญญากู้เงิน ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้เมื่อพ้นกำหนด 3 วันนับแต่วันผิดนัดโดยไม่ต้องบอกกล่าว หากไม่พอชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยอมใช้ให้จนครบ ก็ดี บันทึกสลักหลังการจำนำใบฝากของนายวัลลภเอกสารหมาย ล.2 ที่ว่า เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้ หากลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระอยู่เท่าไร ผู้จำนำยอมให้ธนาคารโจทก์ผู้รับจำนำหักเงินฝากที่จำนำนี้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยจนครบถ้วน โดยให้ถือบันทึกสลักหลังนี้เป็นการบอกกล่าวการจำนำ ก็ดี ตามเงื่อนไขดังกล่าวทั้งสองกรณี ก็เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนำได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนำ หนี้ตามสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ยังคงมีอยู่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้นั้นได้โดยไม่ต้องบังคับจำนำ ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ”.