แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้าพิพาทเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่เรียกว่า พี.โอ.วาย.ซึ่งเป็นเส้นใยที่ไม่มีความยืดหยุ่น ยังใช้ทอผ้าไม่ได้ หากจะนำไปใช้ทอผ้าต้องนำไปผ่านกรรมวิธีตีเกลียวให้เป็นเส้นด้ายอีกชั้นหนึ่งก่อน สินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ในการทอผ้าตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีการค้า (ฉบับที่ 58) พ.ศ. 2518 มาตรา 4ในบัญชีที่ 2 หมวด 2(9) โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 การขอคืนเงินค่าภาษีไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมกับเอกสารประกอบคำร้องว่าคำร้องเป็นความจริง ดังนั้นการที่จำเลยไม่คืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากสินค้าของโจทก์ 2 ชนิด คือ ชนิดเส้นใยยาวที่มีชื่อในภาษีอังกฤษว่า พรี โอเรียนเต็ด ยาร์น หรือพี.โอ.วาย และชนิดด้ายยืดหยุ่นมีชื่อในภาษีอังกฤษว่าฟูลลี่ โอเรียนเต็ด ยาร์น หรือ เอฟ.โอ.วาย สำหรับเส้นใยยาวนี้เส้นใยยังมีการยืดหดตัวมาก ย้อมสีไม่ได้ มีความเหนียวไม่พอนำไปใช้ทอผ้าไม่ได้ หากจะนำไปใช้ทอผ้าต้องนำไปทำกรรมวิธีอีกขั้นหนึ่งโดยยืดให้เต็มที่ ตีเกลียวและอบให้เกลียวคงทนเป็นเส้นด้ายจึงจะเป็นเส้นด้ายยืดหยุ่นหรือ เอฟ.โอ.วาย และนำไปทอผ้าได้โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับเส้นใยยาวเพราะมิใช่เส้นด้ายสำหรับใช้ทอผ้าตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 บัญชีที่ 2 หมวด 2(9) แต่เป็นสินค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1(ก) ของบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ในลักษณะ 2แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าว จึงเป็นสินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าว มาตรา 5(8) โจทก์เสียภาษีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2528 เป็นเงิน 52,530,934.13 บาทซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ โจทก์ขอคืนภาษีดังกล่าวจากจำเลยแต่จำเลยเพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ขอให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าสินค้าของโจทก์เป็นด้ายสำหรับใช้ทอผ้า กล่าวคือเป็นด้ายที่มีโครงสร้างเป็นเส้นเรียบตามปกติ ยังมิได้มีการนำไปปรับปรุงโครงสร้างให้มีความหงิกงอ ด้ายดังกล่าวเป็นด้ายชนิด เอฟ.โอ.วายซึ่งเป็นด้ายที่ใช้ทอผ้าได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้ายชนิด พี.โอ.วายหรือ เอฟ.โอ.วาย ก็เป็นเส้นด้ายสำหรับใช้ทอผ้า ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว คดีขาดอายุความ การที่โจทก์ขอคืนภาษีนั้นจำเลยยังมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์แต่อย่างใด เพราะโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือคำร้องขอคืนเงินภาษีแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 49,188,109.52 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วได้ความว่า โจทก์ตั้งโรงงานผลิตสินค้าเส้นใยสังเคราะห์ชนิดเส้นใยยาว ซึ่งเรียกว่าฟิลาเม้นท์ แฟลท และชนิดด้ายยืดหยุ่น ฟิลาเม้นท์เทกซ์เจอร์ไร้ซ์ สินค้าที่เป็นปัญหาในคดีนี้คือ สินค้าชนิดแรกสินค้าชนิดนี้ถ้าผสมด้วยโพลีเอสเตอร์ ก็เรียกชื่อว่าโพลีเอสเตอร์ ฟิลาเม้นท์ แฟลท หรือเรียกว่า พรี โอเรียนเต็ดยาร์น หรือ พี.โอ.วาย (P.O.Y) และสินค้าชนิดเดียวกันนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฟิลาเม้นท์ ยาร์น หรือเรียกว่าฟูลลี่ โอเรียนเต็ด ยาร์น หรือ เอฟ.โอ.วาย (F.O.Y) มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สินค้าพิพาทในคดีนี้ เป็นเส้นใยยาวชนิดพี.โอ.วาย. หรือ เอฟ.โอ.วาย ได้ความจากนายสมเดช ธงประดิษฐ์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั้งภายในและภายนอกประเทศของบริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทโจทก์ว่า เส้นใยฟิลาเม้นท์ แฟลท ทำมาจากสาร ดี.เอ็ม.ที.สารตัวนี้จะทำให้เกิดเส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์นี้ไม่สามารถนำมาทอผ้าได้ เพราะประการแรกเส้นใยฟิลาเม้นท์ แฟลทเป็นเส้นใยหลาย ๆ เส้นที่รวมตัวกันเป็นเส้นตรงขนานกันเกาะตัวรวมกันอยู่ได้ด้วยน้ำมันฟินิชออย ตัวเส้นใยเองจะลื่น หากนำไปทอเป็นผ้า เส้นใยจะแตกออกจากกัน ไม่สามารถรักษาสภาพของผ้าไว้ได้ ประการที่ 2 เส้นใยจะอยู่ในลักษณะที่อยู่ต่างหากจากกันในแต่ละเส้น เส้นใยไม่มีความเหนียวพอ ประการที่ 3 เส้นใยจะแตกตัวหรือขาดในขณะทำการทอ ประการที่ 4 ในส่วนที่เป็นเส้นยืน หากไม่ผ่านการเคลือบสารเคมีพิเศษ เส้นยืนก็จะไม่สามารถวิ่งผ่านตระกรอและฟันหวีได้ ประการที่ 5 ไม่มีความยืดหยุ่น ความเหนียวไม่พอที่จะทอผ้า แม้หากนำไปทอเป็นผ้าก็ไม่สามารถตัดเป็นเส้นผ้าใส่ได้เพราะจะมีไฟฟ้าสถิตสูง เมื่อเกิดความร้อนจะดูดติดกับผิวหนังและประการสำคัญ เส้นใยฟิลาเม้นท์ แฟลท นี้จะย้อมสีไม่ได้และได้ความจากนายพรชัย วรรินศิริ วิศวกรเครื่องยนต์พยานโจทก์ว่าฟิลาเม้นท์ แฟลท ต้องนำมาทำเท็กซ์เจอร์ หรือการนำมาตีเกลียวและหลังจากนั้นจึงจะกรอให้ลูกค้านำไปใช้ทอผ้า ความข้อนี้นายปราโมทย์ วิทยาสุข หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ พยานจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าคำว่า ฟิลาเม้นท์ แฟลทเป็นคำรวมที่เรียกเส้นใยยาวที่ต่อเนื่องกันยังไม่มีเกลียว ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งโพลีเอสเตอร์ และไนลอนซึ่งยังไม่มีเกลียว เพราะคำว่า แฟลท แปลว่า เรียบ และนายเฉลิมพล จันทโร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็เบิกความว่า คำว่า พี.โอ.วาย.หมายถึงเป็นการดึงบางส่วน ซึ่งสามารถจะดึงต่อไปอีก เส้นใยที่ดึงไม่เต็มที่นี้จึงไม่สามารถจะใช้ทอผ้าได้ ส่วนคำว่า เอฟ.โอ.วาย.นั้น หมายถึงการดึงยืดเต็มที่แล้ว และเบิกความต่อไปว่า โรงงานของโจทก์ไม่มีเครื่องเทกซ์เจอร์ ซึ่งเป็นเครื่องที่ทำให้ด้ายยืดหยุ่น แสดงว่า สินค้าฟิลาเม้นท์ แฟลท ของโจทก์ ก็คือเส้นใยสังเคราะห์ พี.โอ.วาย. นั่นเอง เพราะไม่มีความยืดหยุ่นนำไปทอผ้าไม่ได้ ต้องผ่านกรรมวิธีตีเกลียวอีกชั้นหนึ่ง เส้นใยสังเคราะห์ชนิดเส้นใยยาวที่พิพาทกันนี้ จึงหาได้มีความหมายถึงส่วนที่เป็นเส้นใย ซึ่งเป็นเส้นที่ผ่านจากรูสปินเนอเรท ดังจำเลยอุทธรณ์เท่านั้นไม่ เมื่อสินค้าของโจทก์เป็นเส้นใยสังเคราะห์หรือเรียกว่าเส้นใยประดิษฐ์ ที่เรียกว่า พี.โอ.วาย. ใช้ทอผ้าไม่ได้ ซึ่งแม้แต่นายถมรัตน์ สีต์วรานนท์ นักวิชาการสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย พยานจำเลยก็ยังยอมรับว่า เมื่อเป็นพี.โอ.วาย. แล้ว จึงถึงกรรมวิธีต่อไปทำเป็นเส้นด้าย ดังนั้นเมื่อสินค้าโจทก์ไม่ใช่เส้นด้ายสินค้าของโจทก์จึงไม่ใช่ ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า” ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีการค้า (ฉบับที่ 58) พ.ศ. 2518มาตรา 4 ในบัญชีที่ 2 หมวด 2(9) โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517มาตรา 5(8) จำเลยจะอ้างว่าสินค้าพิพาทเป็นเส้นด้าย แม้จะเป็นเส้นด้ายที่ใช้ทอผ้าไม่ได้ก็ไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าว ย่อมฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า เมื่อโจทก์เรียกร้องขอคืนเงินแต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีอากร พ.ศ. 2529 ตามเอกสารหมาย ล.34 และโจทก์ไม่เคยยื่นเอกสารประกอบคำเรียกร้องว่าคำร้องเป็นความจริงนั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายบังคับดังจำเลยอุทธรณ์ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ร้องขอคืนภาษีอากร แต่ไม่เคยยื่นเอกสารประกอบคำเรียกร้องตามเอกสารว่าคำร้องเป็นความจริงหรือไม่ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสไม่มีเวลาที่จะพิจารณาคำร้องของโจทก์ โดยมีเวลาอันสมควรถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นก็ไม่มีกฎหมายบังคับเช่นกันว่า โจทก์จะต้องยื่นเอกสารพร้อมกับคำร้องของโจทก์ และเห็นว่าการที่จำเลยไม่คืนเงินภาษีที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ก็ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน