คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91, 157, 164 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 62
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี คำรับและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสิบสี่และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่ามหาวิทยาลัย ว. มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยขณะเกิดเหตุมีโจทก์ที่ 1 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ว. โจทก์ที่ 3 ทำหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย ว. และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ว. ส่วนจำเลยเป็นข้าราชการสังกัดสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 14 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ และต่อมาจำเลยได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริตภายในมหาวิทยาลัย ว. จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามความในมาตรา 4 และมาตรา 61 แห่งสำเนาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากจำเลยดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วจำเลยได้ทำรายงานผลการตรวจสอบสืบสวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และต่อมาเว็บไซต์ ข่าวไทยรัฐออนไลน์ ประจำวันที่ 18 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 19 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้เผยแพร่ข่าวว่า จำเลยได้เปิดเผยรายงานการตรวจสอบสืบสวนของจำเลยเรื่องการทุจริตภายในมหาวิทยาลัย ว. แก่สื่อมวลชน หลังจากนั้นวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้กับพวกอีก 2 คน เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2558 โจทก์ทั้งสิบสี่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลความลับที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสี่ในประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน หรือไม่ ในข้อนี้ เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกันคือ ระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดี ก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว.ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้ โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในฐานความผิดที่ยอมความไม่ได้ดังที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกันซึ่งเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฎีกาว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อน แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ แต่การฟ้องซ้อนก็เป็นเรื่องที่ต้องห้ามไม่ให้ราษฎรฟ้องร้องกันในทางแพ่งไม่ใช่ทางอาญา และแม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีก่อนและคดีนี้จะมาจากคดีเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อทั้งสองคดีมีประเด็นข้อพิพาท สภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกัน การฟ้องคดีก่อนและคดีนี้ของโจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีบทบัญญัติเรื่องการฟ้องซ้อนไว้เช่นกัน แต่สามารถกระทำได้เพียงกรณีเดียวตามมาตรา 33 กล่าวคือ พนักงานอัยการและผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกันก็ได้ แต่ศาลนั้น ๆ มีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันก่อนศาลมีคำพิพากษาได้โดยได้รับความยินยอมของศาลอื่นก่อน ซึ่งความในส่วนนี้ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ชัดเจนว่า คดีอาญาเรื่องเดียวกันที่การฟ้องร้องแยกเป็นหลายคดี จะต้องมีการวินิจฉัยความผิดให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกันดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางอาญายื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นสองศาลต่างกันในลักษณะเป็นฟ้องซ้อนกันสองคดี จึงเป็นการฟ้องที่ไม่สามารถกระทำได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 และเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฎีกาต่อไปอีกว่า ความผิดในคดีก่อนและคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลต่างกัน มีการกระทำความผิดด้วยเจตนาแตกต่างกัน และเป็นความผิดหลายฐานต่างกันไม่เกี่ยวข้องกัน โจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่อาจฟ้องคดีทุกเรื่องในศาลเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ทั้งสองคดีจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า เนื่องจากความผิดที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องเป็นคดีก่อนและคดีนี้เป็นความผิดที่มีมูลเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน กรณีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 มาใช้บังคับได้ดังที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีก่อนแล้ว จะเห็นได้ว่า คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยการร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสิบสี่ด้วยการโฆษณา โดยเหตุเกิดทุกตำบล ทุกอำเภอ ทั่วราชอาณาจักรไทย ซึ่งคำบรรยายฟ้องดังกล่าวย่อมแปลความหมายได้ว่า จำเลยที่ 1 ในคดีก่อนได้กระทำความผิดที่ตำบลไทรบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่โจทก์ทั้งสิบสี่ได้บรรยายฟ้องไว้ในคดีนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อความผิดในคดีก่อนและคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ทั้งสิบสี่จึงสามารถฟ้องทั้งสองคดีในคราวเดียวกันที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ได้ตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันที่ศาลชั้นต้นสองศาลต่างกันเป็นสองคดีซ้อนกัน จึงเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเมื่อพิจารณาได้เช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสี่ในประเด็นข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share