แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ข. พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แต่ข้อนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่ ข. ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการให้การต่อสู้เรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง กับให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี อันเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8076 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8076 คนละ 225 ตารางวา หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นางไข่ เจ้ามรดก กับนายเปลี่ยน มีบุตร 4 คน คือ นายบุญ นางอรุณ โจทก์ที่ 3 และนางเชื้อ โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนางพิมพ์ นางพิมพ์เป็นบุตรของนายบุญ โจทก์ที่ 1 จึงเป็นเหลนของนางไข่ โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนางอรุณ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นหลานของนางไข่ ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนางเชื้อ จึงเป็นหลานของนางไข่ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 8076 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน มีชื่อนางไข่กับนางเคลือบ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมานางเคลือบโอนที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นางเชื้อ นางไข่และนางเชื้อจึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2509 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2525 นางเชื้อโอนที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 นางไข่และจำเลยที่ 3 จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 นางไข่ถึงแก่ความตาย โดยนายเปลี่ยนกับนายบุญถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นางไข่จึงมีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกคือ นางพิมพ์บุตรของนายบุญซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 1 นางอรุณ โจทก์ที่ 3 และนางเชื้อ โดยนางไข่มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 3 ปี 2543 นางอรุณถึงแก่ความตาย วันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเชื้อเป็นผู้จัดการมรดกของนางไข่ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 นางเชื้อในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของนางไข่มาเป็นชื่อของนางเชื้อในฐานะผู้จัดการมรดกและในวันเดียวกันนางเชื้อในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของนางเชื้อ โดยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 3 ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2549 นางเชื้อถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 มีการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางเชื้อให้จำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 ที่ดินโฉนดเลขที่ 8076 ถูกแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ และในวันเดียวกันได้จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินออกเป็น 2 แปลง โดยที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 8076 เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 102307 เนื้อที่ 2 ไร่ 50 ตารางวา มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนอีกแปลงหนึ่งออกโฉนดที่ดินใหม่เป็นแปลงเลขที่ 102308 เนื้อที่ 2 ไร่ 40 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา มีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นางพิมพ์ถึงแก่ความตายแล้วโดยไม่แน่ชัดว่าถึงแก่ความตายเมื่อปีใด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า คดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความมรดก หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า นางเชื้อครอบครองที่ดินพิพาทของนางไข่เจ้ามรดกแทนทายาทอื่น โดยมีนางอรุณมารดาโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนางไข่เข้าทำประโยชน์ด้วยจนถึงปี 2538 หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นางเชื้อยึดถือที่ดินพิพาททรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน โจทก์ทั้งสามจึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมและแบ่งปันที่ดินพิพาทได้ นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนางไข่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่ข้อนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่นางไข่ถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการให้การต่อสู้เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง กับให้การว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ เป็นการอ้างอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี อันเป็นอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) อย่างไรก็ดี คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความมรดก 1 ปี นับแต่นางไข่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือไม่ นั้น เห็นว่า นางไข่ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 ได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของนางพิมพ์ว่า นางพิมพ์ทายาทของนางไข่ไม่เคยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและไม่เคยพูดเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งจากนายโสภณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 ว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่ดินจึงฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2556 และได้ความตามคำเบิกความของนายโสภณว่า โจทก์ที่ 3 พักอาศัยอยู่ที่อื่นไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คงมีโจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า นางอรุณและโจทก์ที่ 2 ทำประโยชน์ปลูกต้นกระท้อนและกล้วยไข่ในที่ดินของนางไข่แทนนางไข่มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนนางไข่ถึงแก่ความตาย ต่อมาโจทก์ที่ 2 อายุ 40 ปี จึงย้ายไปอยู่กับสามี หลังจากนั้นนางเคลื่อนเช่าที่ดินพิพาทจากนางอรุณ แต่โจทก์ที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า นางเคลื่อนเช่าที่ดินพิพาทจากนางไข่ตั้งแต่นางไข่ยังมีชีวิตอยู่ จึงขัดแย้งกับที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่า นางอรุณและโจทก์ที่ 2 ทำประโยชน์มาโดยตลอด ส่วนที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าเงินที่นางเชื้อนำไปเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทเป็นเงินของนางอรุณก็เป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ โดยไม่ปรากฏหลักฐาน และที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า หลังนางไข่ถึงแก่ความตาย นางอรุณไปทวงถามนางเชื้อเพื่อขอแบ่งที่ดินพิพาท ขณะนั้นโจทก์ที่ 2 อายุประมาณ 30 ปี แต่โจทก์ที่ 2 เกิดเมื่อปี 2490 ขณะโจทก์ที่ 2 อายุ 30 ปี คือปี 2520 นางไข่ยังไม่ถึงแก่ความตาย คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ล้วนไม่น่าเชื่อถือว่าหลังนางไข่ถึงแก่ความตาย นางอรุณและโจทก์ที่ 2 เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท เชื่อว่าทายาทอื่นของนางไข่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในที่ดินของนางไข่และนางเชื้อ มีบ้านของนางไข่ติดกับบ้านของนางเชื้อในลักษณะเชื่อมต่อเป็นหลังเดียวกัน และที่ดินมีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน ติดคลอง 1 ด้าน ด้านที่เหลือติดกับที่ดินบุคคลอื่น ไม่ได้มากเกินกว่านางเชื้อจะครอบครองผู้เดียว โดยนางเชื้อมีหลักฐานเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท ทั้งโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความรับว่านางเชื้ออยู่อาศัยที่บ้านนางไข่จนกระทั่งนางเชื้อถึงแก่ความตาย ประกอบกับทายาทอื่นของนางไข่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเป็นเวลาร่วม 30 ปี โดยปล่อยให้นางเชื้อเพียงผู้เดียวครอบครองที่ดินเช่นนี้ จึงเจือสมกับที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า นางไข่ยกที่ดินให้นางเชื้อ นางเชื้อจึงครอบครองที่ดินเพื่อตน การที่ทายาทอื่นมิได้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้น 1 ปี นับแต่นางไข่เจ้ามรดกตาย จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องคดี ส่วนที่ต่อมาหลังจากนั้นเกือบ 20 ปี นางเชื้อขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางไข่โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 3 เป็นทายาทนางไข่ด้วยนั้น นายโสภณผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 3 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่าโจทก์ที่ 3 ยินยอมให้นางเชื้อขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางไข่และไม่คัดค้านการโอนที่ดินเป็นของนางเชื้อ ส่วนที่เบิกความใหม่ว่า โจทก์ที่ 3 ยินยอมเพื่อให้ดำเนินการแบ่งมรดกแก่ทายาท ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการหรือทวงถามให้ดำเนินการเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 3 ยินยอมเพื่อให้ดำเนินการแบ่งมรดกแก่ทายาท แต่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 3 ยินยอมเพื่อให้มีการโอนที่ดินเป็นของนางเชื้อ ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่านางเชื้อครอบครองที่ดินพิพาทของนางไข่เจ้ามรดกแทนทายาทอื่น และเมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทและผู้สืบสิทธิของทายาทมิได้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่นางไข่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนางเชื้อเป็นผู้สืบสิทธิของนางเชื้อทายาทโดยธรรมของนางไข่ จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของนางเชื้อทายาทโดยธรรมของนางไข่ยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ตามมาตรา 1755 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนในชั้นฎีกาให้เป็นพับ