คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7476/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมจนศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว การที่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดิมกับที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมก่อนคดีในชั้นบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด และแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทในคดีเดิมแก่โจทก์เมื่อคดีในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมถึงที่สุดแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่จะเข้าข้อยกเว้น ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) แต่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,199,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4852 และ 4853 ให้แก่โจทก์ และรับเงิน 7,000,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคนละประเด็นกับคดีหมายเลขดำที่ 1371/2556 หมายเลขแดงที่ 3034/2556 ของศาลแพ่ง จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามท้องสำนวนโดยลำดับว่า เดิมโจทก์เคยยื่นฟ้องนางสาวเขมิกาเป็นจำเลยที่ 1 และนายบรรจง (จำเลยคดีนี้) เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1371/2556 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทสองโฉนดที่โจทก์อ้างว่ากรรมสิทธิ์เป็นของตน แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แทน และจำเลยที่ 1 นำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในราคา 7,000,000 บาท ภายในวันที่ 30 เมษายน 2557 ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงขายตามนี้ และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก ศาลแพ่งจึงพิพากษาตามยอมให้เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 3034/2556 ต่อมาในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 โจทก์ได้ไปสำนักงานที่ดินตามนัดเพื่อชำระเงินและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ไปโอนตามนัด โจทก์จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้เป็นหลักฐานขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้โจทก์สามารถซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ได้อีกครั้ง และยังขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียโอกาสจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วยฝ่ายจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายที่บ่ายเบี่ยงไม่มาตกลงเรื่องกำหนดวันเวลานัดโอน จำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดนัด ศาลแพ่งเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เมื่อศาลแพ่งยกคำร้องนี้แล้ว โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลย (จำเลยที่ 2 ในคดีเดิม) เป็นคดีนี้ ในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ว่า จำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้จากค่าตอบแทน 3,000,000 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 23 มีนาคม 2558 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งในคดีเดิมที่ยกคำร้อง และคู่ความได้มาแถลงร่วมกันในคดีนี้ว่าขอให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อนเพื่อรอฟังผลคดีเดิม ศาลชั้นต้นจึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราว หากผลคดีถึงที่สุดแล้วค่อยยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ จนวันที่ 20 มีนาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าคดีถึงที่สุดแล้ว และยังแก้ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์และรับเงินจำนวน 7,000,000 บาท ไปจากโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ จำเลยจึงยื่นคำร้องลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ เป็นกรณีที่โจทก์รื้อร้องฟ้องจำเลยอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งในคดีเดิม คือ คดีหมายเลขดำที่ 1371/2556 หมายเลขแดงที่ 3034/2556 ของศาลแพ่งนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำฟ้องและคำให้การในคดีเดิม การที่โจทก์นำข้อต่อสู้ที่เป็นข้ออ้างของโจทก์ในคดีเดิมมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม แม้โจทก์จะแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์และรับเงิน 7,000,000 บาทไป ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับข้อพิพาทในคดีเดิมอยู่ดี เพราะถือว่าโจทก์ยอมสละประเด็นที่เกี่ยวพันกับเรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่ทำให้คดีในส่วนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่เป็นฟ้องซ้ำไปด้วย พิพากษายืน โจทก์จึงยื่นฎีกาในปัญหานี้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ การที่จะพิจารณาว่ากรณีเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องได้มีการวินิจฉัยถึงที่สุดมาแล้วในคดีเดิมโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันหรือไม่ เบื้องต้นได้ความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลย (จำเลยที่ 2 ในคดีเดิม) เป็นสองส่วนด้วยกัน คือ ประเด็นแรกขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จากการที่จำเลยไม่ไปโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมแล้ว และประเด็นหลังแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ และรับเงิน 7,000,000 บาท ไปจากโจทก์ ซึ่งแท้จริงแล้วคำขอทั้งสองประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน โดยโจทก์ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ดำเนินการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 3,000,000 บาท ด้วย ข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องชั้นบังคับคดี ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งอันเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (1) ทั้งนี้ โดยเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาว่าลูกหนี้ต้องรับผิดเพียงใด ย่อมเป็นเรื่องที่คู่ความต้องดำเนินการในคดีนั้นเพื่อให้มีคำวินิจฉัยจากศาล แม้คดีถึงที่สุดแล้วก็ยังขอให้ศาลวินิจฉัยได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ โดยปัญหานี้โจทก์ก็ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในชั้นบังคับคดีอ้างว่าจำเลย (จำเลยที่ 2 ในคดีเดิม) ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ไปโอนที่ดินแก่โจทก์ตามนัด ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้โจทก์สามารถซื้อที่ดินจากจำเลยได้อีก และขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย และศาลได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ยกคำร้องในชั้นบังคับคดีของโจทก์แล้ว โดยศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดนัดไม่ไปโอนที่ดินนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำเงินค่าที่ดินไปวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ต่างตอบแทนแก่จำเลย กรณียังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้โดยการโอนที่ดินตอบแทนแก่โจทก์ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีพฤติการณ์ประวิงคดี โดยขอเลื่อนคดีมาถึง 3 ครั้ง เพราะยังไม่มีเงิน และหาคนมาซื้อที่ดินไม่ได้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ไม่แสดงเจตนาชำระหนี้ส่วนของตนแก่จำเลย จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียน ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงไม่รับพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา การที่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดิมก่อนที่คดีในชั้นบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด และแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เมื่อคดีในชั้นบังคับคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเมื่อคำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีในคดีเดิม และโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องในเรื่องดังกล่าวแล้วจนศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด อันเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมตามข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 (1) คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมหมายเลขดำที่ 1371/2556 หมายเลขแดงที่ 3034/2556 ของศาลแพ่ง ซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หาใช่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่เป็นฟ้องซ้ำตามบทมาตราดังกล่าวตามที่โจทก์อ้างในฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

Share