คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 6, 7, 42, 44, 68, 108, 110, 115, 117 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 7, 17 (2), 19, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วและฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันประกอบกิจการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก คือ ฐานร่วมกันประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 โดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน) จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 4 เดือน รวมเป็นจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 10 เดือน จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 5 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้จำเลยทั้งห้าฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าเป็นเพียงลูกจ้างที่รับจ้างบรรจุน้ำมันเครื่องลงขวด ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน โดยไม่ทราบว่าเป็นน้ำมันเครื่องปลอม และไม่ทราบว่าสติกเกอร์และฉลากที่ใช้ปิดขวดน้ำมันเครื่องเป็นเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยให้การรับสารภาพเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เข้าใจข้อกล่าวหา นั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์เช่นเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อันเป็นการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยทั้งห้าฎีกาในปัญหานี้โดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้ไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อต่อไปว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งห้าหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการประกอบกิจการควบคุมโดยฝ่าฝืนต่อบทกฎหมาย ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้มีเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งสินค้าน้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น พฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้านับว่าร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัวก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

Share