คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับรถของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 9 เดือน 20 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 25 วัน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอเพิ่มโทษจำเลย ให้จำคุกจำเลย 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนและขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนในร่างกาย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นคำนวณเพิ่มโทษไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเพิ่มโทษจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การจำเลยให้ชัดเจนในข้อที่เคยได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วหรือไม่ เป็นการไม่ชอบ และส่งผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป รวมทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบไปด้วย เห็นว่า ในส่วนของการขอเพิ่มโทษ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 45 เดือน ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 921/2551 ของศาลจังหวัดหล่มสัก จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 แล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่พ้นโทษ และขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยที่มีรายละเอียดว่าจำเลยเคยถูกดำเนินคดีใดมาบ้าง โดยรายการที่ 3 ระบุว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาจำคุก 45 เดือน ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 921/2551 มากับคำฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง คำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามคำให้การจำเลยก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาและบันทึกคำให้การจำเลยลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ว่าศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้ คำให้การของจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้องดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริง และหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย ประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษโดยเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามด้วยแล้ว จำเลยก็มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องการเพิ่มโทษตามฟ้องแล้ว การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามฟ้องและต้องเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนการเพิ่มโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนเดือนและวันที่เพิ่มโทษจำเลยตามคำพิพากษาน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด แต่กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลย โดยให้ยกคำขอเพิ่มโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คดีนี้แม้โจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โดยไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ดังนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 8 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 10 เดือน 20 วัน ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share