แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อกำหนดตามธรรมธรรม์ประกันภัยที่ว่า “การตกลงยินยอมหรือการเสนอหรือการให้สัญญาว่าจะชดใช้เงินหรือชดใช้ค่าเสียหายประการใดก็ตามแก่บุคคลอื่น ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนผู้เอาประกันภัยจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร” นั้น เป็นการห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยทำความตกลงหรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้รับประกันภัยเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไม่ เมื่อผู้เอาประกันฟ้องเรียกร้องค่าซ่อมรถของตนที่เอาประกันภัยไว้ อันได้รับความเสียหายเนื่องจากชนกับรถของบุคคลอื่น มิได้เกี่ยวกับค่าเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลอื่น ผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้
กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเมื่อ “อุบัติเหตุหรือวินาศภัย อันเกิดขึ้นโดยผู้ขับขี่ยานยนต์คับเอาประกันภัยเจตนาจงใจฝ่าฝืนในข้อกำหนดกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจร” ย่อมหมายความว่า วินาศภัยที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในความเสียหายก็เฉพาะแต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ผู้ขับขี่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจรเท่านั้น การที่คนขับรถของผู้เอาประกันภัยขับรถคันที่เอาประกันภัยไปในทางที่ยังไม่เปิดใช้เป็นทางจราจรแม้จะมีเครื่องหมายของพนักงานจราจรห้ามมิให้รถเข้าไปแล่นก็ตามแต่เมื่อการขับรถเข้าไปใจทางนั้นไม่ใช่เหตุที่เกิดรถชนกันเพราะรถชนกันบนถนนส่วนที่เปิดใช้แล้วผู้รับประกันภัยก็จะยกเหตุดังกล่าวมามัดความรับผิดไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันวินาศภัย เพื่อชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิงอยู่กับจำเลย โดยนำรถบรรทุกกะบะไม้หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๓๔๔๔ เข้าประกันในวงเงินไม่เกิน ๕๐.๐๐๐ บาท ตามกรมธรรม์รถยนต์เลขที่ ๘-๖๒๑๒ อยู่ที่โจทก์และจำเลยคนละฉบับ โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๕ นายสมชาย สมบูรณ์ชัย คนขับของโจทก์ได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันไปชนกับรถเมล์โดยสารของบริษํทบางแคขนส่ง จำกัด ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องออกเงินค่าซ่อม ๘,๔๐๐ บาท โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้เงิน ๘,๔๐๐ บาท และค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์ฟ้องจริง โจทก์ผิดสัญญาประกันภัย คือรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๐๓๔๔๔ เกิดชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.จ.๔๙๐๕ โดยที่ฝ่ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๓๔๔๔ มิได้เป็นฝ่ายจะต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนต่าง ๆ อันเกิดรถชนกัน แต่โจทก์กับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยมิได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลย เป็นการผิดสัญญาหมวดที่ ๔ ข้อ ๕ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขณะเกิดเหตุรถชนกัน ลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๓๔๔๔ โดยเจตนาฝ่าฝืนข้อกำหนดกฎหมาย คำสั่ง และเครื่องหมายจราจร ซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยหมวดที่ ๓ ข้อ ๒ ค่าซ่อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๓๔๔๔ ไม่เกิน ๕๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๘,๔๐๐บาท และค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ ๒๐๐ บาทแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความ ๓๐๐ บาทแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงรับฟังไดว่า จำเลยได้รับประกันรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๓๔๔๔ ของโจทก์ในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๑ ในระหว่างอายุสัญญารับประกันภัย รถยนต์ดังกล่าวลูกจ้างของโจทก์ขับไปขนกับรถยนต์ของบริษัทบางแคขนส่งได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนเกิดเหตุรถยนต์ชนกัน คนขับรถยนต์ของโจทก์ได้ขับรถไปตามถนนที่ยังไม่ได้เปิดใช้ทางจราจร
วินิจฉัยว่า กรมธรรม์ประกันภัยหมวด ๔ ข้อ ๕ มีว่า “การตกลงยินยอมหรือการเสนอหรือการให้สัญญาว่าจะชดใช้เงินหรือชดใช้ค่าเสียหายประการใดก็ตามแก่บุคคลอื่น ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนผู้เอาประกันภัยจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร” สัญญาข้อนี้เป็นข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้เอาประกันภัยทำความตกลงหรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก เห็นได้ว่าพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้รับประกันภัยไม่ให้ผู้เอาประกันทำสัญญาให้เป็นที่เสียหายแก่ผู้รับประกันภัยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อยกของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าซ่อมรถโจทก์ในคดีนี้มิได้เกี่ยวกับค่าเสียหายทีโจทก์สัญญาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลอื่น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้
ปัญหาว่าคนขับรถของโจทก์ได้ทำการฝ่าฝืนกรมธรรม์ประกันภัยหมวดที่ ๓ ข้อ ๒ หรือไม่ ตามสัญญาข้อ ๒ มีว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อ “อุบัติเหตุหรือวินาศภัย อันเกิดขึ้นโดยที่ผู้ขับขี่ยานยนต์คันเอาประกันภัยเจตนาจงใจฝ่าฝืนข้อกำหนดกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจร” ดังนี้ จึงเข้าใจได้ว่าวินาศภัยที่ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นก็เฉพาะแต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ผู้ขับขี่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจรเท่านั้น ถ้าอุบัติเหตุมิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ผู้ขับขี่ยานยนต์จงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจรแล้ว ผู้รับประกันภัยหาอาจยกข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นมาเป็นเหตุปัดความรับผิดของตนหรือได้ไม่ คดีนี้ ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบไว้เลยว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากคนขับรถของโจทก์ทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งหรือเครื่องหมายจราจรโดยตรง ยิ่งกว่านั้น ตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลย ข้อ ๒ ก.ยังกล่าวว่า เหตุที่รถชนกันฝ่ายรถยนต์ของโจทก์มิได้เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทน อันมีความหมายชัดเจนแล้วว่า ฝ่ายคนขับรถของโจทก์มิได้เป็นผู้ต้องรับผิดในการที่เกิดรถชนกันครั้งนี้ ส่วนการที่คนขับรถของโจทก์ขับรถไปในทางที่ยังไม่เปิดใช้เป็นทางจราจรนั้น ไม่ใช่เหตุให้เกิดรถชนกัน เพราะรถขนกันบนถนนส่วนที่เปิดใช้แล้ว เมื่อเหตุรถชนกันมิได้เกิดจากการที่คนขับรถของโจทก์ขับรถในทางที่ยังไม่ได้เปิดใช้เป็นทางจราจร จำเลยจึงยกเหตุนี้มาเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยไม่ได้
ปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ โจทก์มีเอกสารหมาย จ.๒ จ.๓ มาแสดงว่าได้เสียค่าซ่อมแซมรถยนต์โจทก์ไปรวมเป็นเงิน ๘,๔๐๐ บาท ไม่มีข้อน่าระแวงอย่างใดว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินค่าซ่อมดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมรถไป ๘,๔๐๐ บาท จริง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความให้สองศาลเป็นเงิน ๖๐๐ บาท
(รื่น วิไลชนม์ สนับ คัมภีรยส สมชัย ทรัพยวณิช)