คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96(พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”เมื่อหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ระหว่างโจทก์และ ผ. ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และมีบันทึกที่ด้านหลังของเอกสารว่า โจทก์และ ผ. นัดจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2520 หากผู้ขายบิดพลิ้วประการใดประการหนึ่ง ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อปรับสามเท่าของราคาหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์ได้ติดต่อ ผ. เพื่อขอรับโอนที่ดินพิพาท แต่ ผ. แจ้งว่ายังไม่พร้อม หลังจากที่ ผ. เสียชีวิต โจทก์ไปติดต่อ จ. ภริยาของ ผ. จ. แจ้งว่าจะโอนให้ภายหลัง ดังนี้หนังสือสัญญาที่โจทก์และ ผ. ทำขึ้นจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายและคู่สัญญามุ่งถึงการจดทะเบียนเป็นสำคัญในการโอนสิทธิครอบครอง ตราบใดที่โจทก์และ ผ. ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกัน การครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาการซื้อขายของโจทก์ก็ย่อมเป็นการครอบครองแทน ผ. ผู้ขายอยู่ตราบนั้น เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของ ผ. และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกฟ้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์ย่อมเป็นอันขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2520 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2942 เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 40 ตารางวา ในราคา 13,000 บาท จากนายผุย แก้วคำ บิดาจำเลยโดยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนภายหลัง และได้ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้โจทก์ยึดถือไว้ พร้อมมอบที่ดินให้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ปี 2533 นายผุยถึงแก่กรรม ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนหลักฐานที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11120 มีชื่อนายผุยเป็นเจ้าของ จำเลยได้รับโฉนดที่ดินแล้วขับไล่โจทก์ออกจากที่ดิน ห้ามมิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายผุยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายผุย โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติแล้วในชั้นฎีกามีว่านายผุยได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และนัดจะไปจดทะเบียนโอนภายหลังโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทและยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ตลอดมา ต่อมานายผุยถึงแก่กรรมโดยยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และทางราชการได้เปลี่ยนหลักฐานที่ดินเป็นโฉนดที่ดิน

ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกที่ว่า ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายผุยเมื่อปี 2520 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงสามารถโอนการครอบครองให้แก่กันได้โดยการสละการครอบครองและส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 เมื่อปรากฏว่า นายผุยบิดาจำเลยได้สละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ การเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์นับแต่วันที่นายผุยส่งมอบการครอบครองให้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันจึงเป็นการครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของ โดยอาศัยสิทธิของโจทก์เองหาใช่เป็นการอาศัยสิทธิของนายผุยและหาใช่เป็นการครอบครองไว้แทนนายผุยดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” ฉะนั้น เมื่อหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระหว่างโจทก์และนายผุย เอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และมีบันทึกที่ด้านหลังของเอกสารว่าโจทก์และนายผุยนัดจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2520 ในสัญญาข้อ 3 ระบุอีกว่า หากผู้ขายบิดพลิ้วประการใดประการหนึ่ง ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อปรับสามเท่าของราคา นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์อีกว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายกับนายผุยแล้ว โจทก์ได้ติดต่อนายผุยเพื่อขอรับโอนที่ดินพิพาท แต่นายผุยแจ้งว่ายังไม่พร้อม หลังจากที่นายผุยเสียชีวิต โจทก์ไปติดต่อนางจันทร์ทีภริยาของนายผุย นางจันทร์ทีแจ้งว่าจะโอนให้ภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงแสดงว่าหนังสือสัญญาที่โจทก์และนายผุยทำขึ้นเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย และคู่สัญญามุ่งถึงการจดทะเบียนเป็นสำคัญในการโอนสิทธิครอบครอง เมื่อเป็นเช่นนี้ตราบใดที่โจทก์และนายผุยยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกัน การครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาการซื้อขายของโจทก์ก็ย่อมเป็นการครอบครองแทนนายผุยผู้ขายอยู่ตราบนั้นเพราะสิทธิครอบครองในที่ดินยังมิได้โอนมาเป็นของโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองศาลชอบแล้ว

ฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่า อายุความ 1 ปี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ใช้บังคับเฉพาะทายาทนายผุยเท่านั้น โจทก์มิใช่ทายาทของนายผุยและการฟ้องคดีนี้มิใช่การฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายผุย หากแต่เป็นการฟ้องแสดงสิทธิของโจทก์เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อายุความฟ้องจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นเห็นว่า ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทยังเป็นของนายผุย ยังมิได้โอนมาเป็นของโจทก์ เมื่อนายผุยถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายผุยและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกฟ้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์ย่อมเป็นอันขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share