คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 ผู้กระทำจะต้องแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมปรากฏว่า โจทก์ร่วมต้องการตัดไม้ยางเพื่อจะสร้างบ้านให้บุตรชายของตน แต่ไม่มีทุนจ้างคนเลื่อยไม้ โจทก์ร่วมไปปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการ จำเลยรับดำเนินการขออนุญาตตัดไม้ยาง โดยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางที่ได้จากการตัดและแปรรูป แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนไม้ยางที่แปรรูปแน่นอน และจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมต้องการสร้างบ้านให้แก่บุตรชายของตนตรงบริเวณที่มีต้นยางปลูกอยู่จำนวน 2 ต้น แต่โจทก์ร่วมไม่สามารถขออนุญาตตัดไม้ยางได้ด้วยตนเอง โจทก์ร่วมจึงยกไม้ยางทั้งสองต้นให้แก่จำเลย โดยไม่เคยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางแปรรูปที่ได้จากการตัดแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยตัดต้นยางและชักลากไปแปรรูปในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นไปโดยอาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามที่โจทก์ร่วมนำสืบ มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพียงแต่หลังจากที่จำเลยเข้าตัดต้นยางของโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมกับจำเลยต่างมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับข้อตกลงในการแบ่งไม้ยางที่ได้จากการแปรรูปว่าเป็นประการใด อันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งระหว่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้จำเลยคืนไม้ยาง 2 ต้น ให้แก่ผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางเข็ม ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยตัดไม้ยาง จำนวน 2 ต้น จากบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ร่วม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การที่จำเลยตัดไม้ยาง จำนวน 2 ต้น จากบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ร่วม เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงที่จะเลื่อยไม้ยาง จำนวน 2 ต้น ของโจทก์ร่วมเพื่อแบ่งปันกัน การครอบครองไม้ยางทั้งสองต้นยังอยู่ที่โจทก์ร่วม แต่จำเลยไปตัดไม้ยางบริเวณที่เกิดเหตุ โดยไม่แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าทางราชการออกใบอนุญาตและชักลากไม้ยางไปแปรรูปในที่ดินของจำเลย เป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต อันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้กระทำจะต้องแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมปรากฏว่า โจทก์ร่วมต้องการตัดไม้ยางเพื่อจะสร้างบ้านให้บุตรชายของตน แต่ไม่มีทุนจ้างคนเลื่อยไม้ โจทก์ร่วมไปปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการ จำเลยรับดำเนินการขออนุญาตตัดไม้ยาง โดยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางที่ได้จากการตัดและแปรรูป แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนไม้ยางที่แปรรูปแน่นอน และจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมต้องการสร้างบ้านให้แก่บุตรชายของตนตรงบริเวณที่มีต้นยางปลูกอยู่จำนวน 2 ต้น แต่โจทก์ร่วมไม่สามารถขออนุญาตตัดไม้ยางได้ด้วยตนเอง โจทก์ร่วมจึงยกไม้ยางทั้งสองต้นให้แก่จำเลย โดยไม่เคยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางแปรรูปที่ได้จากการตัดแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยตัดต้นไม้ยางและชักลากไปแปรรูปในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นไปโดยอาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามที่โจทก์ร่วมนำสืบ มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพียงแต่หลังจากที่จำเลยเข้าตัดต้นยางของโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมกับจำเลยต่างมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับข้อตกลงในการแบ่งไม้ยางที่ได้จากการแปรรูปว่าเป็นประการใด อันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งระหว่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share