แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ววรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 3, 4, 5, 11, 12, 13, 18, 41, 58, 62, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบคีตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียพร้อมซิมการ์ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแชมป์โมบายพร้อมซิมการ์ด ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธข้อหาขายคีตามีนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 (ที่ถูก 12 (1) ด้วย), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาขายคีตามีนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ริบคีตามีนของกลาง และยกคำขอ ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียพร้อมซิมการ์ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแชมป์โมบายพร้อมซิมการ์ดของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ฐานขายคีตามีนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง จำคุก 16 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี สำหรับความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียพร้อมซิมการ์ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแชมป์โมบายพร้อมซิมการ์ดของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นเพื่อนนายซี ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายซีเข้าพักที่โรงแรม ห้องเลขที่ 1212 ชั้นที่ 12 ต่อมาเวลา 10.30 นาฬิกา จำเลยเข้าไปในห้องนายซี จนกระทั่งเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จึงออกมาและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณทางเข้าโรงแรมชั้นที่ 1 ส่วนนายซีเดินถือถุงกระดาษสีแดงออกจากห้องในเวลา 12.17 นาฬิกา แล้วขึ้นลิฟท์ไปชั้นที่ 16 เมื่อกลับมานายซีไม่ได้ถือถุงกระดาษดังกล่าวมาด้วย ในเวลาต่อเนื่องกันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายอานนท์กับพวกได้พร้อมคีตามีนของกลางในถุงกระดาษที่นายซีถือออกจากห้อง ต่อจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุมนายซี ในห้องพร้อมยึด 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ด สีม่วง 400 เม็ด และ คีตามีน 1 ถุง น้ำหนักสุทธิ 99.800 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียพร้อมซิมการ์ด 1 เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแชมป์โมบายพร้อมซิมการ์ด 1 เครื่อง และทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการเป็นของกลาง ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาจำเลยและนายซีว่า ร่วมกันมี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีคีตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนนายซีให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม ชั้นสอบสวน พันตำรวจโท อนุพงษ์ พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาจำเลยว่า เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายวัตถุออกฤทธิ์ (คีตามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและสอบคำให้การนายวุฒิชัย พนักงานโรงแรมไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ผู้กล่าวโทษหรือพยานเอกสาร ผลการตรวจคีตามีนของกลางปรากฏตามหนังสือเรื่องการตรวจพิสูจน์ยาเสพติด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขายคีตามีนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโท กานดิศ พันตำรวจโท ดวงโชติ และพันตำรวจตรี นันทพล ผู้จับกุมจำเลย เป็นพยานเบิกความได้ความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 พันตำรวจโท กานดิศได้รับการประสานข้อมูลจากนายอดิเรก เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 กับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 คน พร้อมคีตามีนเป็นของกลาง ผู้ต้องหาให้การว่ารับคีตามีนดังกล่าวมาจากโรงแรม ชั้นที่ 16 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 พันตำรวจโท กานดิศกับพวกจึงไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่โรงแรม จากการตรวจสอบพบว่าในวันดังกล่าวนายซี ซึ่งพักอยู่ห้องเลขที่ 1233 เข้าออกห้องโถงชั้นที่ 16 และแลกเปลี่ยนถุงกับผู้ต้องหา จึงขอภาพถ่ายยืนยันจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แล้วประสานงานกับพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงแรมว่า หากนายซีกลับมาพักอีกให้แจ้งชุดสืบสวน ในวันเกิดเหตุ พนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงแรมโทรศัพท์แจ้งพันตำรวจโท กานดิศว่า เวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายซีมาเปิดห้องที่โรงแรม พันตำรวจโท กานดิศจึงเดินทางไปที่ห้องควบคุมของโรงแรมเพื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดร่วมกับพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงแรมและนายอดิเรก ส่วนพันตำรวจโท ดวงโชติ พันตำรวจโท สุวัฒน์ และพันตำรวจตรี นันทพล นำเจ้าพนักงานตำรวจอื่นตามไปสมทบ จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พันตำรวจโท กานดิศพบว่าในเวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายซีเข้าพักห้องเลขที่ 1212 เวลา 10.30 นาฬิกา จำเลยถือกระเป๋าเข้าไปในห้องของนายซี แล้วออกจากห้องในเวลา 12 นาฬิกา พันตำรวจโท กานดิศใช้วิทยุสื่อสารแจ้งพันตำรวจโท ดวงโชติซึ่งอยู่ที่ล็อบบี้ของโรงแรมให้ควบคุมตัวและตรวจค้นจำเลย เมื่อถูกขอตรวจค้น จำเลยแสดงอาการตกใจ พูดแต่ว่าเป็นคนไทย ครั้นตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่าตราประทับผิดปกติ แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย คงพบเสื้อผ้าและถุงกระดาษ 2 ถึง 3 ใบ มีลักษณะอย่างเดียวกับถุงกระดาษที่ใส่คีตามีนที่นายอานนท์ได้รับจากนายซี ในกระเป๋าของจำเลย ต่อมาเวลา 12.17 นาฬิกา นายซีเดินถือถุงกระดาษสีแดงออกจากห้องเลขที่ 1212 แล้วขึ้นลิฟท์ไปชั้นที่ 16 ซึ่งมีนายอานนท์เดินไปมาระหว่างทางเดินกับลิฟท์ เมื่อนายซีกลับลงมาชั้นที่ 12 ก็ไม่มีถุงกระดาษแล้ว พันตำรวจโท กานดิศจึงแจ้งให้พันตำรวจโท ดวงโชติจับกุมนายอานนท์ ครั้นจับกุมนายอานนท์ได้ตรวจค้นพบคีตามีน ชนิดเกล็ด 3 ห่อ น้ำหนักห่อละ 1 กิโลกรัม อยู่ในถุงกระดาษใบเดียวกับที่นายซีถือออกจากห้อง จากนั้นพันตำรวจโท กานดิศให้พันตำรวจตรี นันทพลนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นห้องเลขที่ 1212 โดยให้ดาบตำรวจ สุรพงศ์ปลอมตัวเป็นพนักงานโรงแรมมาส่งน้ำดื่ม เมื่อนายซีเปิดประตูห้อง จึงเข้าควบคุมตัว และตรวจค้นพบคีตามีน 1 ถุง ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ และยาเสพติดคล้าย 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 8 ถุง ถุงละ 40 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีเขียวภายในห้อง นายซีให้การว่ายาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์เป็นของจำเลย และรับสารภาพในชั้นจับกุมว่า กระทำความผิดมาแล้ว 2 ครั้ง โดยทั้งสองครั้งจำเลยเป็นผู้นำนำยาเสพติดมาส่งให้ นายซีเป็นเพียงคนกลางส่งต่อให้แก่ลูกค้า ได้ค่าจ้างครั้งละ 15,000 บาท พันตำรวจโท กานดิศ ให้นายซีชี้ตัวจำเลยพร้อมถ่ายรูปไว้ ส่วนพันตำรวจตรี นันทพลให้นายซี ทำบันทึกให้ถ้อยคำยืนยันพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยและของตน โดยมีนายอะตาผะ เป็นล่าม ยังได้ความเพิ่มเติมจากคำเบิกความของนางสาวณิชาภากับนางสาวบุษญารัตน์ พนักงานของโรงแรม โดยนางสาวณิชาภาเบิกความว่าพยานทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ในวันเกิดเหตุนายซีนำใบเสร็จรับเงินที่ได้ชำระเงินให้แผนกแคชเชียร์ ระบุชื่อจำเลยจองห้องมาเข้าพักที่โรงแรม พยานจึงให้พนักงานคนอื่นแก้ไขข้อมูลชื่อผู้เข้าพักจากจำเลยเป็นนายซี เพราะพยานจำนายซีได้เนื่องจากมาพักที่โรงแรมเป็นประจำและให้เข้าพักห้องเลขที่ 1212 ส่วนนางสาวบุษญารัตน์เบิกความว่า พยานทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด ในวันเกิดเหตุ ขณะพยานเข้าไปทำความสะอาดที่ห้องเลขที่ 1212 เห็นกระเป๋าล้อลากอยู่ในห้อง พยานทำความสะอาดได้สักพักนายซี ซึ่งเข้าพักที่โรงแรมมากกว่า 10 ครั้ง เข้ามาในห้อง หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วพยานออกไปจากห้องเวลา 10.30 นาฬิกา ขณะพยานทำความสะอาดห้องเลขที่ 1203 มีชายมาเคาะประตูห้องของนายซี ตามภาพถ่ายประกอบรายงานการสอบสวนคดียาเสพติด สักพักชายคนดังกล่าวออกจากห้องตามภาพถ่าย หลังจากนั้นนายซีถือกระเป๋าขนาดเล็กสะพายข้างและถุงกระดาษสีแดง ออกจากห้องเดินเข้าไปในลิฟท์ ประมาณ 10 นาที นายซีกลับมาที่ห้องโดยไม่ได้ถือถุงกระดาษกลับมาตามภาพถ่าย เห็นว่า แม้พยานโจทก์ผู้จับกุมไม่เห็นขณะจำเลยส่งมอบคีตามีนของกลางให้นายซี แต่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดอันอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร่วมกระทำความผิดโดยเฉพาะเช่นนี้ย่อมยากแก่การที่จะหาประจักษ์พยานมารู้เห็นการกระทำความผิดได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยจากพยานแวดล้อมกรณีอื่นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวณิชาภาว่า ในวันเกิดเหตุ นายซีนำใบเสร็จรับเงินระบุชื่อจำเลยจองห้องมาเข้าพักที่โรงแรม แต่พยานจำนายซีได้ จึงแก้ชื่อเป็นชื่อนายซีเข้าพักในบัตรทะเบียนผู้เข้าพักโรงแรม การจองห้องและชำระเงินก่อนเข้าพักและการลงทะเบียนเข้าพักตามที่จองไว้ชี้ให้เห็นว่าระหว่างจำเลยกับนายซี มีการนัดหมายพบกันที่โรงแรมมาก่อน หลังจากนายซีได้ห้องพัก ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวบุษญารัตน์ว่า ขณะเข้าไปทำความสะอาดเห็นกระเป๋าล้อลากอยู่ในห้องแล้ว หลังจากทำความสะอาดได้สักพักนายซีจึงเข้ามาในห้อง ดังนั้นระหว่างนำกระเป๋าไว้ในห้องจนกระทั่งนางสาวบุษญารัตน์เข้ามาทำความสะอาด หากนายซีนำคีตามีนของกลางติดตัวมาด้วยก็คงจะรีบนำไปมอบให้นายอานนท์ ไม่มีเหตุผลที่จะนำคีตามีนของกลางเก็บไว้ในห้องโดยที่ตนเองไม่ได้อยู่ด้วยและรอจนกระทั่งจำเลยมาถึงก่อน การที่นายซีรีบนำคีตามีนของกลางไปมอบให้นายอานนท์หลังจากจำเลยออกไปจากห้องของตนไม่นาน ส่อแสดงให้เห็นว่าเพิ่งได้รับคีตามีนของกลางจากจำเลย ประกอบกับเมื่อพิจารณาบันทึกการจับกุมกับบันทึกถ้อยคำที่พยานโจทก์ผู้จับกุมเบิกความยืนยันว่า นายซีได้ให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อไว้ โดยมีนายอาตาผะ เป็นล่ามผู้แปลและอ่านให้ฟัง มีใจความสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า คีตามีนของกลางเป็นของจำเลยนำมามอบให้นายซีส่งต่อให้ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยจะเป็นผู้ติดต่อลูกค้าโดยตรง นัดหมายลูกค้ามารับคีตามีน จำเลยโทรศัพท์มาบอกนายซีซึ่งหลังจากจำเลยออกไปจากห้องของนายซีไม่นานได้โทรศัพท์มาบอกว่ามีคนยืนรอรับยาเสพติดหน้าลิฟท์ชั้นที่ 16 นายซีจึงนำยาเสพติดไปส่ง และได้กระทำความผิดมาแล้ว 2 ครั้ง โดยทั้งสองครั้งจำเลยเป็นผู้นำยาเสพติดมาให้ เมื่อนายซีให้ถ้อยคำและทำบันทึกถ้อยคำกับชี้ภาพถ่ายจำเลยยืนยันถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย ตามภาพถ่ายการชี้ตัว ทันทีภายหลังถูกจับกุมซึ่งยังไม่น่าจะทันมีโอกาสไตร่ตรองเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงไปเป็นอย่างอื่น น่าเชื่อว่านายซีให้ถ้อยคำและทำบันทึกถ้อยคำตามความเป็นจริง แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัตวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำและภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ประกอบกับพยานโจทก์ผู้จับกุมเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติภารกิจไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งหมดเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะสมคบกันเพื่อเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยขึ้นรถโดยสารจากอำเภอหาดใหญ่มากรุงเทพมหานคร เพื่อหาซื้อของชำร่วยที่จะใช้ในงานแต่งงานของน้องภริยาจำเลย โดยลงรถที่สถานีขนส่งหมอชิตประมาณ 9 นาฬิกา นายซีโทรศัพท์มาบอกให้แวะไปที่โรงแรมก่อน เมื่อรับประทานอาหารแล้วจึงไปซื้อของ จำเลยมาถึงโรงแรมเวลาประมาณ 10 นาฬิกา แล้วขึ้นไปหานายซีที่ห้อง หลังจากรับประทานอาหาร ล้างหน้า และเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว จำเลยขอตัวกลับ แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนั้น ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง เพราะหากนายซีมีคีตามีนของกลางและยาเสพติดให้โทษอื่น เก็บไว้ในห้องก่อนจำเลยจะไปหานายซี ย่อมทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ต้องปกปิดเป็นความลับจึงไม่มีเหตุที่นายซีจะชักชวนจำเลยไปหาเพียงเพื่อรับประทานอาหาร เนื่องจากอาจถูกจำเลยพบเห็นและใกล้ถึงเวลาส่งมอบคีตามีนของกลาง ทั้งจำเลยไม่เคยให้การในเรื่องดังกล่าวในชั้นสอบสวน เพิ่งมาอ้างในชั้นฎีกาโดยมีแต่เฉพาะคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลย ซึ่งง่ายต่อการกล่าวอ้าง และยังขัดกับที่ให้การในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ให้การว่า จำเลยเดินทางมาเที่ยว นอกจากนี้ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยไม่ปรากฏข้อมูลว่าในช่วงเช้าของวันเกิดเหตุนายซี โทรศัพท์ไปหาจำเลย และตามคำบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนายวุฒิชัย ที่จำเลยรับตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ว่า นายวุฒิชัยให้การตามบันทึกในชั้นสอบสวนมีใจความว่า จำเลยให้นายวุฒิชัยเรียกรถแท็กซี่ไปส่งที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่จะไปซื้อของชำร่วยงานแต่งงาน พยานหลักฐานจำเลยยังไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้นำคีตามีนของกลางมาส่งให้แก่นายซี เพื่อนำไปส่งต่อให้นายอานนท์กับพวกการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานขายคีตามีนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 118 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์