คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มุ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ได้ทำจริง โดยมุ่งเพื่อให้การจ่ายเงินใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ได้ทำจริงมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อ 4 ก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงว่าจำนวนปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่เป็นจำนวนโดยประมาณเท่านั้น จำนวนปริมาณงานที่แท้จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและประมาณราคากับขั้นตอนการกำหนดราคากลาง ทำให้ค่างานก่อสร้างที่คำนวณได้และนำไปใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นสูงเกินค่าก่อสร้างจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิเพียงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริงตามข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง หากโจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินในส่วนที่เกินราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ย่อมเป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างไปจากโจทก์ซึ่งเกินไปกว่าปริมาณงานตามความเป็นจริงที่กำหนดไว้ในสัญญา ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ต่างตอบแทนที่ยังมีข้อโต้แย้งจากการทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ จำเลยที่ 1 กับพวก หาจำต้องร่วมกันคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,088,439.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 895,128.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมา 10,983 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 โจทก์ประกาศจัดจ้างโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนงานเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน 12 โครงการ โดยวิธีพิเศษ ซึ่งรวมถึงโครงการเสริมผิวลาดยางแอสฟัลต์ติกคอนกรีตสายแยกทางหลวงหมายเลข 104 – บ้านท่าไม้แดง ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 1,384 เมตร หนาเฉลี่ย 0.04 เมตร พร้อมป้ายโครงการ 1 ป้าย บ้านท่าไม้แดง หมู่ที่ 3 ตำบลวังหิน อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งโจทก์กำหนดราคากลางค่าก่อสร้างเป็นเงิน 4,485,000 บาท กำหนดให้ยื่นซองเสนอราคาในระหว่างวันที่ 18 ถึง 19 เมษายน 2555 เวลา 8.30 ถึง 16.30 นาฬิกา และวันที่ 20 เมษายน 2555 เวลา 8.30 ถึง 11 นาฬิกา กำหนดเปิดซองเสนอราคาในวันที่ 20 เมษายน 2555 เวลา 11 นาฬิกา มีผู้ยื่นซองเสนอราคารวม 3 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกตุไสว คอนสตรัคชั่น เสนอราคาในวงเงิน 4,304,900 บาท บริษัทนำโชคก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาในวงเงิน 4,485,000 บาท และจำเลยที่ 1 เสนอราคาในวงเงิน 3,910,000 บาท โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำโครงการตามวงเงินค่าจ้างที่เสนอ กำหนดจ่ายค่าจ้างเป็น 2 งวด งวดที่ 1 เมื่อขุดรื้อผิวทางและไหล่ทางเดิมขนทิ้งแล้วบดอัดทับ 8,304 ตารางเมตร งานหินคลุกบดอัดแน่น 2,724 ลูกบาศก์เมตร และป้ายโครงการกับป้ายประชาสัมพันธ์เป็นเงิน 1,491,158 บาท และงวดที่ 2 เมื่อได้ปฏิบัติงานไพร์มโคท 8,304 ตารางเมตร งานแอสฟัลต์ติกคอนกรีตและงานตีเส้นจราจรด้วยสีเทอร์โมพลาสติก 322.8 ตารางเมตร เป็นเงิน 2,418,842 บาท โดยจำเลยที่ 1 ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างแล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ และขอเบิกเงินค่าก่อสร้างทั้ง 2 งวด มีคณะกรรมการตรวจการจ้างที่โจทก์แต่งตั้งตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการตรวจแล้วถูกต้อง โจทก์อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างทั้ง 2 งวด ให้จำเลยที่ 1 ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตากตรวจสอบการทำงานโครงการเสริมผิวลาดยางแอสฟัลต์ติกคอนกรีตสายแยกทางหลวงหมายเลข 104 – บ้านท่าไม้แดง ตามสัญญาจ้างเลขที่ 10/2555 พบว่ามีการคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและการประมาณราคา
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานลาภมิควรได้ตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ ประเด็นนี้แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มุ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ได้ทำจริง โดยมุ่งเพื่อให้การจ่ายเงินใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ได้ทำจริงมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อ 4 ก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงว่าจำนวนปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่เป็นจำนวนโดยประมาณเท่านั้น จำนวนปริมาณงานที่แท้จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงที่จะไม่เปลี่ยนแปลงราคาต่อหน่วยหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากจำนวนปริมาณในแต่ละหน่วยงานได้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญา ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและประมาณราคากับขั้นตอนการกำหนดราคากลาง ทำให้ค่างานก่อสร้างที่คำนวณได้และนำไปใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นสูงเกินค่าก่อสร้างจริง กล่าวคือ คณะกรรมการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างไว้เป็นเงิน 4,485,000 บาท จากการตรวจสอบการคำนวณราคาตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ราคากลางที่ควรจะเป็น 3,449,929.49 บาท การกำหนดราคากลางตามสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สูงเกินไปเป็นเงินจำนวน 1,035,070.41 บาท รวมค่างานที่ผู้รับจ้างไม่ได้ก่อสร้างจริงทำให้ราชการต้องจ่ายเงินสูงกว่าความเป็นจริง 895,128.95 บาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริงตามข้อตกลงในสำเนาสัญญาว่าจ้าง ข้อ 4 ก หากโจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินในส่วนที่เกินราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ย่อมเป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างจำนวน 3,910,000 บาท ไปจากโจทก์ซึ่งเกินไปกว่าปริมาณงานตามความเป็นจริงที่กำหนดไว้ในสัญญา ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ต่างตอบแทนที่ยังมีข้อโต้แย้งจากการทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบไซร้ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำต้องร่วมกันคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share