คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โรงงานยาสูบกระทรวงการคลังมิใช่กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังดังนั้นโรงงานยาสูบจึงมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515ข้อ1(1)บังคับไม่ การที่ระเบียบโรงงานยาสูบว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบพ.ศ.2518และที่แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2520กำหนดไว้ว่าพนักงานยาสูบคนใดมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์แล้วถือว่าครบเกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ระเบียบดังกล่าวนี้ออกมาภายหลังที่พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518มีผลบังคับแล้วระเบียบนี้จึงได้ออกมาอนุวัตตามเป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยแท้มิใช่กรณีที่นายจ้างต้องผูกพันจ้างลูกจ้างจนมีอายุครบ60ปีนายจ้างจะเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งต่างประเภทกับเงินบำเหน็จที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จของโรงงานยาสูบฉะนั้นเงินบำเหน็จที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างไปแล้วตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชย.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังมิใช่ราชการส่วนกลาง หาได้รับการยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน บังคับไม่ การที่โจทก์ทั้งห้าออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน บำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แล้วเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้านับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โรงงานยาสูบมิใช่กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกกัดของกระทรวงการคลัง ดังนั้น โรงงานยาสูบกระทรวงการคลังจึงมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับการยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 บังคับไม่
การที่ระเบียบโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบ พ.ศ. 2518 ข้อ 4(2) กำหนดคุณสมบัติพนักงานไว้ว่ามีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และตามข้อ 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2520 ข้อ 2 ซึ่งกำหนดว่าพนักงานยาสูบคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ถือว่าครบเกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ระเบียบดังกล่าวนี้ได้ออกมาภายหลังที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มีผลบังคับแล้ว ระเบียบนี้จึงได้ออกมาเพื่ออนุวัตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยแท้ กรณีหาใช่ว่าจำเลยต้องถูกผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์ทั้งห้าจนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น การจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นเงินต่างประเภทกับเงินบำเหน็จที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ. 2500 ลงวันที่ 11มีนาคม 2500 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2500 กับระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ลงวันที่8 พฤศจิกายน 2510 และระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังพ.ศ. 2500 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2522ดังนั้น เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายไปแล้ว ตามระเบียบดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีก เนื่องจากค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งห้า
พิพากษายืน.

Share