คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแรก จ.สามี น. ฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจาก ส. กับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. ได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้ จ. ได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่ จ. เป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาว่า น. ได้สัญชาติไทยหลัง จ. แสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น น. ก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับ จ. สามี ดังนั้นสิทธิของ น. ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาทก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. มารดาให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน นั้น เป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งสองคดีก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่
การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของ ว. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้
คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามราคาที่ดินพิพาท มิใช่ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1904, 1905 และ 1909 อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร (โฉนดเลขที่ 52799 เลขที่ดิน 369 อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร) ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เพื่อให้ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวกลับคืนเป็นชื่อของนายสุมิตรและนายสุวิทย์ตามเดิมโดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชอบชำระค่าธรรมเนียมในการโอนคืน อากรแสตมป์ ค่าภาษีเงินได้หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว 1 ใน 7 ส่วน เฉพาะที่ดินของนางนิภาหรือ 1 ใน 14 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลง โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าภาษีต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การ และจำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเจียม และนางนิภา ซึ่งเดิมเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติจีน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ นางสิริมา นายสุวิทย์ นายสุมิตร โจทก์ จำเลยที่ 1 และนายพิชัย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายพิชัย นางนิภาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2530 มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาลของนางนิภา ปี 2533 นายเจียมเป็นโจทก์ฟ้องนายสุมิตรบุตรชายกับนายวิวัฒน์ และนายวินัย บุตรนายสุวิทย์ เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13856/2533 หมายเลขแดงที่ 8529/2544 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับบุคคลทั้งสามคืนทรัพย์สินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1904, 1905 และ 1909 อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร แก่นายเจียม หากไม่อาจบังคับตามคำขอได้ก็ให้บังคับตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และ 96 ระหว่างพิจารณานายเจียมและนายสุมิตรถึงแก่ความตาย กรณีนายเจียม เดิมศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายสุวิทย์และนายพิชัยเข้าเป็นคู่ความแทนต่อมานายสุวิทย์และนายพิชัยถึงแก่ความตาย ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้นายธิติ จำเลยที่ 2 คดีนี้ซึ่งเป็นบุตรของนายพิชัยเข้าเป็นคู่ความแทนนายเจียม ส่วนกรณีนายสุมิตร ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายวิรัตน์ เข้าเป็นคู่ความแทนนายสุมิตรโดยมีนายวิวัฒน์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์เนื่องจากคู่ความผู้ฎีกาถอนฎีกา โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคือให้จำหน่ายที่ดินโฉนดเลขที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวที่นายเจียมได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้นายเจียมได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินนั้นแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ในปี 2540 ก่อนนายสุมิตรถึงแก่ความตาย นายสุมิตรเป็นโจทก์ฟ้องนางสิริมา นายสุวิทย์ โจทก์ จำเลยที่ 1 และนายพิชัยเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5924/2540 หมายเลขแดงที่ 10443/2544 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้บังคับบุคคลทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของนางนิภามารดาซึ่งรวมทั้งส่วนของที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1904, 1905 และ 1909 อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ให้แก่นายสุมิตร 1 ใน 7 ส่วน ระหว่างพิจารณานายสุมิตรและนายสุวิทย์ ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งกรณีนายสุมิตรอนุญาตให้นายวิวัฒน์เข้าเป็นคู่ความแทน และมีคำสั่งกรณีนายสุวิทย์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายสุวิทย์เข้าเป็นคู่ความแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นฎีกาโดยศาลฎีกาได้พิพากษาเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่พิพากษาบังคับให้บุคคลทั้งห้าร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของนางนิภาซึ่งรวมทั้งส่วนของที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ให้แก่นายสุมิตร 1 ใน 7 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งให้ตามส่วน วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายสุวิทย์ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งในที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแทนนายเจียม โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนนายเจียมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13856/2533 หมายเลขแดงที่ 8529/2544 ของศาลชั้นต้น ได้ร่วมกันปฏิบัติตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์ในคดีนั้น ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงรวมสามโฉนดให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้นำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10443/2544 จึงได้นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองเป็นคดีนี้
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นสำคัญแห่งคดีประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทและการจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาประเด็นข้อนี้ข้อแรกว่า คำพิพากษาอันเป็นที่สุดในชั้นอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8529/2544 ที่พิพากษาให้จำหน่ายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้นายเจียมโจทก์ในคดีได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินนั้นแทนการได้กรรมสิทธิ์ ขัดกับคำพิพากษาอันเป็นที่สุดในชั้นฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10443/2544 ที่พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าในคดีร่วมกันแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกส่วนของนางนิภาให้แก่นายสุมิตรโจทก์ในคดี 1 ใน 7 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งให้ตามส่วน ซึ่งอ้างว่าต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันมิได้ ต้องบังคับให้ถือตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10443/2544 ที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปขายหรือจำหน่ายเพื่อบังคับตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8529/2544 ให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ เห็นว่า คดีแรกคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8529/2544 เป็นคดีที่นายเจียมสามีนางนิภาฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจากนายสุมิตรกับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์ พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่นายเจียมได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้นายเจียมได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่นายเจียมเป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่นว่า นางนิภาได้สัญชาติไทยหลังนายเจียมแสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น นางนิภาก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับนายเจียมสามี ดังนั้นสิทธิของนางนิภาในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาท ก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10443/2544 ที่นายสุมิตรเป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของนางนิภามารดาให้แก่นายสุมิตร 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของนางนิภาให้แก่นายสุมิตร 1 ใน 7 ส่วน ตามฟ้องนั้น เห็นได้ว่าเป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของนางนิภา ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่ ด้วยเหตุนี้การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายสุมิตรผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำบังคับของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายสุวิทย์ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนนายเจียมเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำบังคับคดีแรกทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้ ส่วนโจทก์จะมีส่วนได้เสียในมรดกเพียงใดเป็นเรื่องที่อาจจะไปว่ากล่าวกันในชั้นการแบ่งมรดก
ประการต่อมาโจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์หรือมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือหากเป็นคดีมีทุนทรัพย์ก็ควรเสียค่าขึ้นศาล 1 ใน 14 ส่วน ของราคาที่ดินพิพาทตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า ตามคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามฟ้องข้ออ้างโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นเพราะไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share