แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ขอยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง จำเลยไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 มิถุนายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเงินเสร็จแก่จำเลย และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยว่าจ้างโจทก์สร้างบ้านพักอาศัยหนึ่งหลังตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตกลงราคาค่าจ้างซึ่งรวมทั้งค่าวัสดุสิ่งของสัมภาระและค่าแรงเป็นเงิน 500,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดแรก 200,000 บาท งวดที่สอง 200,000 บาท และงวดที่สาม 100,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและสำเนารายการประกอบแบบ โจทก์ทำงานงวดแรกถูกต้องตามแบบแปลนและได้รับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ทำงานงวดที่สองเสร็จแล้วปรากฏว่าโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามแบบแปลนหลายประการ เช่น โครงเหล็กหลังคาในส่วนเหล็กตัวซีที่ใช้ทำจันทันขนาดเล็กกว่าที่ระบุไว้ในแบบแปลน และการเชื่อมต่อกับคานรับโครงหลังคาไม่ถูกต้อง หลังคาโค้งงอ การก่ออิฐผนังด้านซ้ายมือของบ้านซึ่งวางอยู่บนคานเพียงหนึ่งในสามของก้อนอิฐ ฝาผนังบ้านโดยรอบไม่เรียบร้อย และใช้เหล็กไม่ตรงตามสัญญา เป็นต้น โจทก์ขอเบิกเงินค่าจ้างงวดที่สอง 200,000 บาท จำเลยไม่ยอมชำระ จำเลยได้แจ้งโจทก์ให้แก้ไขงานงวดที่สองให้ตรงแบบแปลนตามสัญญาเสียก่อน แต่โจทก์ไม่แก้ไข และจำเลยยังมิได้จ้างผู้ใดให้มาแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้างและจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไขโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้ว จึงไม่อาจให้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น” ดังนั้น จำเลยจะต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น สำหรับสาเหตุที่การทำงานของโจทก์มีข้อบกพร่องดังกล่าวได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยขอเปลี่ยนแบบโดยให้โจทก์ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น โจทก์จึงต้องขยายแนวชายคาทั้งสองข้างออกไปและทำเหล็กเสริมจันทันคุ้มออกมาอีก 60 เซนติเมตร เพื่อให้รับกับชายคาไม่สั้นเกินไป ซึ่งนายสรพงษ์ ชื่นชม พยานจำเลยวิศวกรโยธาผู้ตรวจสอบแบบแปลนบ้านเบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ว่ามีการขยายห้องนอนทั้งสองด้านของบ้านเกินกว่าที่ระบุในแบบแปลน ดังนั้น ถ้าหากจำเลยไม่สั่งให้โจทก์ขยายห้องนอนออกไป โจทก์ก็ไม่ต้องขยายแนวชายคาให้กว้างขึ้น ส่วนโครงหลังคาที่โครงเหล็กตัวซีโค้งงอเนื่องจากมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาผิดไปจากแบบแปลน ซึ่งระบุว่าหลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ การที่จำเลยให้โจทก์เปลี่ยนเป็นใช้กระเบื้องซีแพคโมเนียหรือวีคอนทำให้น้ำหนักหลังคาเพิ่มมากขึ้น โครงเหล็กตัวซีต้องรับน้ำหนักมากกว่าตามแบบจึงทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องให้แก่จำเลยเป็นเงิน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อนำไปหักจากค่าจ้างของงานงวดที่สองจำนวน 200,000 บาท แล้วจำเลยจะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 มิถุนายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องแย้งจำเลย