คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย
ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ ก. อายุ 8 ปี และ ช. อายุ 6 ปี เดิมอยู่กินฉันสามีภริยากันที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ จนถึงปลายปี 2539 ได้ย้ายไปอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านของบิดามารดาโจทก์ ในช่วงแรกก็อยู่กินกันอย่างปกติสุข ต่อมาเมื่อประมาณปี 2541 จำเลยมีนิสัยเปลี่ยนไปไม่ค่อยพูดจากับญาติของโจทก์ ไม่ให้ความเคารพนับถือบิดามารดาโจทก์ พูดตะคอกเสียงดัง พูดหยาบคายกับมารดาโจทก์ โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนหลายครั้ง แต่จำเลยก็ไม่ปรับปรุงตัว กลับโต้เถียงและขัดใจโจทก์บ่อยครั้งจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 จำเลยได้ออกจากบ้านพร้อมขนเครื่องใช้ส่วนตัวกับไปอยู่กับบิดามารดาจำเลยและนำ ก. บุตรคนแรก ไปด้วยโดยไม่กลับมาอยู่กินกับโจทก์อีก โจทก์ติดต่อให้จำเลยกลับมาอยู่กินด้วยกัน แต่จำเลยปฏิเสธจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้ ก. และ ช. อยู่ในความปกครองของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ในระหว่างสมรสโจทก์จำเลยมีสินสมรสคือ รถยนต์พิพาทราคา 510,000 บาท และมีหนี้สินรวม 3 รายการ เป็นเงิน 148,956.50 บาท จำเลยให้ความเคารพนับถือบิดามารดาโจทก์ตลอดมาแต่มารดาโจทก์มักจะกระทำการอันเป็นการก้าวก่าย กลั่นแกล้งบีบคั้นจำเลยไม่ให้จำเลยมีที่อยู่ที่กินตามสภาพของการมีครอบครัว พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยจำเลยบ่อยครั้ง มารดาโจทก์พยายามกีดกันไม่ให้โจทก์และจำเลยใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสามีภริยาพึงปฏิบัติต่อกัน ห้ามไม่ให้จำเลยกราบไหว้พระในบ้าน ด่าว่าจำเลย เมื่อมีบุคคลใดโทรศัพท์ไปหาจำเลยก็กลั่นแกล้งโดยยกหูแล้ววางสายและไม่บอกจำเลยทำให้จำเลยเสียภาพลักษณ์ในหน้าที่การงาน ไม่ให้จำเลยนำรถยนต์ไปใช้เพื่อพาบุตรไปพบแพทย์ ทุกครั้งที่มีปัญหาโจทก์ไม่เคยฟังและแก้ไขปัญหาให้แก่จำเลย ไม่เคยปรับความเข้าใจกับจำเลย ไม่เคยสอบถามความรู้สึกของจำเลย ให้จำเลยอยู่ในบ้านบิดามารดาโจทก์อย่างอดทน ไม่เคยปกป้องช่วยเหลือจำเลย บางครั้งก็ทำร้ายร่างกายจำเลยโดยทุบตีให้บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เคยเอื้ออาทรแก่จำเลยในยามทุกข์ยาก เวลาบิดามารดาจำเลยเจ็บป่วยโจทก์ก็ไม่เคยไปเยี่ยม จำเลยเคยชวนโจทก์ให้ออกไปเช่าบ้านอยู่ต่างหากจากบ้านบิดามารดาโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธ โจทก์เคยขอหย่าขาดกับจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยปฏิเสธเพราะคาดหวังว่าจะอยู่กันเป็นครอบครัวอย่างมีความสุขได้ บัดนี้โจทก์มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะขอหย่าจำเลยจึงไม่ยับยั้งอีก ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งทรัพย์สินคือรถยนต์พิพาทคนละครึ่ง และให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ที่ค้างแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด กับให้โจทก์ใช้ค่าเลี้ยงดูจำเลยเดือนละ 3,000 บาท และให้บุตรทั้งสองคนอยู่ในความปกครองของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า รถยนต์พิพาทราคา 510,000 บาท บิดาโจทก์วางเงินจอง 10,000 บาท และตอนวางเงินดาวน์จำนวน 240,000 บาท บิดามารดาโจทก์ออกเงินให้จำนวน 180,000 บาท จำเลยกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด จำนวน 180,000 บาท แต่นำเงินไปชำระเงินดาวน์เพียง 60,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัว ในการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อซึ่งเงินเดือนละประมาณ 12,000 บาท นั้น บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเงินให้เดือนละ 5,000 บาท โจทก์จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 7,000 บาท สินสมรสจึงมีเพียง 172,000 บาท ส่วนหนี้สินที่จำเลยกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด ในปี 2543 และ 2546 เป็นการกู้ยืมภายหลังจากที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่แล้ว และไม่ได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัวแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยชำระหนี้ในส่วนนี้ จำเลยมีปัญหาด้านการเงินบ่อยครั้ง หากบุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองของจำเลยจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูให้มีความสุข ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ก. และ ช. บุตรทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเยี่ยมเยียนบุตรและรับบุตรไปดูแลในวันหยุดราชการ ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนคนละ 1,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ ให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 1,500 บาท ต่อเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ และให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 224,128 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยค้างชำระกับสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด จำนวน 64,479.25 บาท คำขออื่นตามคำฟ้องและฟ้องแย้งให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่จำเลย แต่ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้โจทก์ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนจำเลยตามทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2538 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ ก. อายุ 8 ปี และ ช. อายุ 6 ปี หลังจากโจทก์จำเลยสมรสกันแล้วได้อยู่ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ต่อมาปี 2539 โจทก์และจำเลยได้ย้ายครอบครัวมาอยู่อาศัยอยู่กับนายวินิต และนางละออง บิดามารดาโจทก์ที่บ้านเลขที่ 345/5 ถนนห้วยยอด ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โจทก์จำเลยมีสินสมรสเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กข 370 ตรัง ระหว่างที่จำเลยอาศัยอยู่กับบิดามารดาโจทก์ จำเลยและมารดาโจทก์มีปัญหาต่อกัน วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จำเลยได้พา ก. ออกจากบ้านบิดามารดาโจทก์ ไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยและไม่ได้กลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีก โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าต่างประสงค์ที่จะหย่าขาดจากกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในส่วนนี้เป็นที่ยุติแล้ว… นอกจากนี้กรณีที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือโดยคำพิพากษาของศาลก็มีมาตรา 1522 บัญญัติว่า ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด และถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอเพราะจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า โจทก์ต้องแบ่งทรัพย์สินให้แก่จำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามาหรือไม่ ข้อเท็จจริงในปัญหาข้อนี้ฟังได้ว่า ในการเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 370 ตรัง บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้ขอกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด และนำเงินกู้ดังกล่าวบางส่วนไปชำระเงินดาวน์ โจทก์อ้างว่าเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นของบิดามารดาโจทก์และไม่ได้ยกให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงไม่ใช่สินสมรส เห็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย ดังนั้น รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่นางสาววราภรณ์ พลับอ่อน น้องสาวโจทก์ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้โจทก์แบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสหรือไม่ โจทก์คงฎีกาเพียงว่าเกี่ยวกับหนี้สินของธนาคารที่จำเลยกู้ยืมมาเป็นการกู้ยืมภายหลังจากที่โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบหักล้างว่าจำเลยไม่ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บุตร แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารหรือพยานบุคคลที่แสดงว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มีอยู่จริง จึงไม่ใช่หนี้ร่วม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดด้วย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าเงินที่จำเลยกู้ในปี 2543 และในปี 2546 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยแยกไปอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว จำเลยไม่ได้อยู่กับโจทก์อย่างสามีภริยาทั่วไป เงินที่จำเลยกู้มาจึงไม่ได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัว โจทก์จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย เห็นว่า แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำ ก. ไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ซึ่งโจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดู ก. เช่นกันและจำเลยได้นำสืบว่าจำเลยกู้เงินทั้งสองครั้งดังกล่าวมาใช้เพื่อประโยชน์ของบุตร ในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉินจำนวน 20,000 บาท การกู้ทั้งสองครั้งดังกล่าวโจทก์ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของ ก. อันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรส จึงเป็นหนี้ที่โจทก์กับจำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

Share