แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีแล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาชัยนาท รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่ผู้ถือ ต่อมาโจทก์ได้รับโอนเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวจากจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 สลักหลังเพื่อขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมหานครจำกัด สาขาปากคลองตลาด และที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานพุทธเพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินและคืนเช็คทั้งสองฉบับมา ให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 189,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 2เพื่อเป็นการประกันหนี้ค่าปุ๋ยของบุคคลภายนอกที่สั่งซื้อปุ๋ยของโจทก์ผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ และบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ตัวแทนของโจทก์เสร็จแล้ว แต่โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลนำเช็คพิพาทมาฟ้องด้วยเจตนาที่จะฉ้อโกงจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเพียงแต่สลักหลังเช็คพิพาทโอนชำระหนี้ให้โจทก์ ไม่ได้ค้ำประกันหรือรับรองจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 189,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2528และของต้นเงิน 89,800 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกิน8,303.75 บาท กับให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ขอสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทั้งสองฉบับจริงไม่ติดใจสืบพยาน ส่วนจำเลยที่ 1 กับโจทก์แถลงร่วมกันว่า จะไปขอคัดคำเบิกความและพยานเอกสารของแต่ละฝ่ายในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1082/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 1303/2528 ของศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งหมดมาอ้างเป็นพยานในสำนวนคดีนี้โดยจำเลยที่ 1 และโจทก์หมดพยานเพียงเท่านี้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เดิมจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีต่อมากลับสละประเด็นข้อต่อสู้ทั้งหมด และหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีแต่เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 เลย พฤติการณ์แห่งคดีพอฟังว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้นจะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว ไม่บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2ก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 หาได้ไม่เมื่อตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1303/2528ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนเช็คให้โจทก์ได้มีการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 อย่างไรคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมจะต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับต่อโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 และมาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นและจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้
พิพากษายืน