แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า จำเลยได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นที่ว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับวิธีพิจารณาคดีแรงงานว่าด้วยการส่งสำเนาเอกสารให้แก่ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งให้ตรวจดูก่อน และการกำหนดหน้าที่นำสืบพยาน ศาลได้กำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อน ทำให้จำเลยไม่สามารถนำพยานมาสืบหักล้างอธิบายข้อกล่าวอ้างและพยานโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งในเรื่องที่โจทก์และศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิได้โต้แย้งในดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 43)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 15,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 36)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 41)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ข้ออุทธรณ์ของจำเลยแม้ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยว่าเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจที่จะรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) อุทธรณ์ข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ให้ยกคำร้อง